22/11/2024

กาฬสินธุ์ ชาวบ้านเรียกร้องเขื่อนลำปาวปล่อยน้ำเพิ่มหลังรอเก้อทำนาปรังเลี้ยงกุ้ง (ชมคลิป)

ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำนาปรังและอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกร้องชลประทานเขื่อนลำปาวเพิ่มปริมาณปล่อยน้ำ หลังระบายจากตัวเขื่อนตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 แต่ระดับน้ำบางช่วงยังใช้การไม่ได้ ในขณะที่หว่านข้าวนาปรังรอจ่อตายแล้ง และน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งเริ่มขาดขาดแคลน ด้านผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำปาว จัดเจ้าหน้าที่สอบถามปัญหา คาดได้น้ำทั่วถึงวันนี้

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=XP-rrZChm8Q[/embedyt]

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของชาวบ้านใน จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาวหรือเขื่อนลำปาว ซึ่งมีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและทำนาปรังกันเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ หลังประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ซึ่งชาวนาและผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ต่างมีความหวังที่จะได้รับน้ำ เพื่อประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ แต่กลับพบว่าเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอ กระทั่งเกิดเหตุการณ์รวมตัวที่คลองชลประทาน และเรียกร้องทางเขื่อนระบายน้ำเพิ่ม


โดยที่บริเวณคลองส่งน้ำบ้านโคกก่อง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ใกล้อาคารเปิดปิดน้ำ 2 แห่ง คือหลัก กม.ที่ 12 บ้านโคกก่อง และแห่งที่ 2 หลัก กม.16 บ้านตูม ต.บัวบาน ตัวแทนชาวบ้านผู้ใช้น้ำจำนวน 10 คน ได้มารวมตัวกันติดตามระดับน้ำที่คลองชลประทาน โดยระบุว่าทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.4 ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 10 วัน ยังไม่ได้ใช้น้ำเลย ทั้งๆที่ทุกครั้งที่ผ่านมาใช้เวลาเพียง 7 วัน ก็ได้รับน้ำที่ไหลผ่านประตูปิด-เปิดน้ำ ไหลผ่านท่อระบายและไหลไปตามคลองไส้ไก่เข้าบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และพื้นที่ทำนาปรังที่หว่านข้าวเต็มท้องนาแล้ว แต่ปัจจุบันกลับไม่ได้ใช้น้ำ ทำให้ต้นข้าวที่กำลังงอกเหี่ยวเฉา และกำลังจะแห้งตาย ขณะที่ผู้เลี้ยงกุ้งก็รอน้ำเพื่อให้ไหลเติมเข้าไปในบ่อ และปล่อยเลี้ยงพันธุ์กุ้งรุ่นใหม่ บางรายต้องนำเครื่องไปสูบน้ำ ทำให้สิ้นเปลือง เนื่องจากน้ำมันราคาสูง ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งบริเวณนี้พื้นที่รอรับน้ำไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ทีเดียว


นายพรหมมา ฉายประดับ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 268 หมู่ 7 ชาวนาบ้านโคกก่อง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนมีที่นา 16 ไร่ ทำนาปรังทั้งหมด โดยการหว่านแห้งเพื่อรอรับน้ำจากคลองชลประทานลำปาว ทั้งนี้กะระยะเวลาตามที่เคยทำทุกปี คือติดตามสถานการณ์น้ำจากประกาศของทางเขื่อนลำปาวว่าจะระบายน้ำลงมาวันไหน ก็กำหนดวันเวลาในการลงมือทำนาปรังเลย คือพอหว่านข้าวเสร็จ 4-5 วัน เมล็ดข้าวก็จะเริ่มงอก หรือรอเพียง 1 สัปดาห์ ก็จะได้รับน้ำจากคลองแล้ว แต่วันนี้ผ่านมา 12-13 วันยังไม่ได้รับน้ำเลย จึงชักชวนเพื่อนชาวนาและผู้เลี้ยงกุ้งที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ ช่วง กม.ที่ 12 และ กม.ที่ 16 มาดูระดับน้ำ ซึ่งทีแรกเข้าใจผิดโดยคิดว่าคนที่อยู่ต้นน้ำ ซึ่งมีบ่อเลี้ยงกุ้งอยู่ติดกับคลองสายใหญ่กักเก็บน้ำไว้ใช้คนเดียว จึงได้มาพูดคุยขอใช้น้ำด้วย ซึ่งเกิดการถกเถียงกันยกใหญ่ เกือบจะวางมวยกันเลยทีเดียว


ด้านนายศุภาวุฒิ สุวรรณดี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนมีบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามประมาณ 15 ไร่ อยู่ติดคลองชลประทานสายหลัก แต่ปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนลำปาวตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา 13-14 วัน ยังมีปริมาณน้อย ไม่ถึงประตูระบายน้ำ ที่จะไหลไปตามคลองไส้ไก่ ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้น้ำเติมเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งที่กำลังขาดแคลน ตนและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง รวมทั้งชาวนาหลายคน จึงได้นำเครื่องสูบน้ำมาทำการสูบน้ำ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อน้ำมันที่มีราคาแพง ซึ่งเป็นการเปลืองต้นทุนการผลิตทั้งๆที่ไม่น่าจะเป็น เพราะหากทางเขื่อนปล่อยน้ำมาเต็มที่ เพิ่มปริมาณน้ำตามกำหนดระยะเวลา ตนและชาวนาคงจะไม่เดือดร้อน ถึงกับบางครั้งจะเกิดเหตุชกต่อยกัน เนื่องจากชาวนาที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ มากล่าวหาว่าตนซึ่งอยู่ต้นน้ำกักเก็บน้ำไว้ใช้คนเดียว ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะความจริงคือเขื่อนปล่อยน้ำลงมาน้อย ต่างคนก็ต่างคอยเก้อ อยากได้น้ำไปหล่อเลี้ยงนาข้าวและบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ล่าสุดจึงได้โทรศัพท์แจ้งปัญหาน้ำไม่พอใช้ไปยังผู้บริหารเขื่อนลำปาว เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา


ขณะที่นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,167 ล้าน ลบ.ม.จากระดับกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ทางโครงการฯได้เริ่มระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.65 เพื่อให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ทำนาปรัง และประชาชนผู้ใช้น้ำ ได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยส่งเฉลี่ยวันละประมาณ 3.50 ล้าน ลบ.ม. และจะเพิ่มปริมาณขึ้นตามลำดับ เพื่อรักษาสมดุลของระบบคู คลอง สาเหตุที่การจราจรของน้ำในคลองชลประทาน ที่ผู้ใช้น้ำแจ้งว่าเพิ่มระดับน้ำเพิ่มขึ้นช้านั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการก่อสร้างและปรับปรุงคลองชลประทานสายหลักหลายช่วง บางช่วงมีระยะทางยาวหลายร้อยเมตร ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ส่งผลกระทบต่อคูคลองที่สร้างเสร็จใหม่ จึงได้ค่อยๆเพิ่มปริมาณน้ำที่ระบายลงมา อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านนั้น ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงติดตามสถานการณ์น้ำ และจะเร่งดำเนินการตามคำร้องขอ คาดว่าจะได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึงในวันนี้

 

ข่าวที่น่าติดตาม