22/11/2024

พิจิตร-ส.ส.พิจิตรตั้งกระทู้ในสภาวอนกรมชลประทานเร่งสร้าง ปตร.วังจิกในแม่น้ำยมงบ 231 ล้าน (ชมคลิป)

สุรชาติ “ส.ส.ไก่” ส.ส.พปชร.พิจิตรเขต 3 ลงพื้นที่ลุ่มน้ำยมรับเรื่องร้องทุกข์ชาวบ้านเมื่อถึงฤดูน้ำหลากที่ลุ่มก็ถูกน้ำท่วม พอถึงหน้าแล้งแม่น้ำยมก็แห้งขอด ชาวนาตั้งความหวังกรมชลประทานสร้าง ปตร.วังจิกในแม่น้ำยม งบ 231 ล้าน ผ่านมา 9 ปีแล้วงานคืบหน้าแค่ 47.05% จึงต้องตั้งกระทู้ถามในสภา วอนอธิบดีกรมชลประทานสั่งเร่งสร้างให้แล้วเสร็จ เพราะน้ำคือชีวิต ของเกษตรกร

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=IilSx-yrVXI[/embedyt]

วันที่ 20 มกราคม 2565 นายสุรชาติ ศรีบุศกร “ส.ส.ไก่” ส.ส.พปชร.พิจิตรเขต 3 เปิดเผยว่าจากการลงพื้นที่พบปะกับราษฎรในเขตอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องเกษตรกรลุ่มน้ำยมของจังหวัดพิจิตร ว่าพื้นที่ทำการเกษตรของลุ่มน้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร เมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่ลุ่มก็จะถูกน้ำท่วม , เมื่อถึงฤดูแล้งแม่น้ำยมก็แห้งขอด

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ต้องขอขอบคุณกรมชลประทานที่พยายามหาวิธีกักเก็บน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม 4 แห่ง คือ

1.ในเขตอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก สร้างประตูระบายน้ำท่านางงามด้วยงบประมาณ 460 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2562-2566 เมื่อแล้วเสร็จจะกักเก็บน้ำได้ 11.10 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 51,357 ไร่ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 55.31 %

2.ในเขตจังหวัดพิจิตรที่ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม สร้างประตูระบายน้ำท่าแห ด้วยงบประมาณ 350 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2562-2567 เมื่อแล้วเสร็จจะกักเก็บน้ำได้ 16.54 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 81,111 ไร่ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 43.05 %

3.ในเขตจังหวัดพิจิตรที่ตำบล วังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง สร้างประตูระบายน้ำวังจิก ด้วยงบประมาณ 231.4 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2559-2566 เมื่อแล้วเสร็จจะกักเก็บน้ำได้ 6.17 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 37,387 ไร่ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 47.05 %

4.ในเขตจังหวัดพิจิตรที่ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง สร้างประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ด้วยงบประมาณ 580 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2568 เมื่อแล้วเสร็จจะกักเก็บน้ำได้ 5.1 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 28,863 ไร่ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 12.16 %


ซึ่งทั้ง 4 โครงการนี้แบ่งการทำงานเป็น 2 รูปแบบ คือโครงการที่กรมชลประทานดำเนินการเองกับโครงการที่กรมชลประทานว่าจ้างผู้รับเหมาทำงาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ต้องนำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภาเพื่อขอคำตอบจากอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวคือการก่อสร้างประตูระบายน้ำวังจิก ซึ่งในสัญญาจ้างตั้งแต่ปี 2559-2566 รวมระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี แต่ผลการดำเนินการได้แค่เพียง 47.05% อีกทั้งขณะนี้ก็มีปัญหาผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องเป็นเหตุให้ทำงานล่าช้า อีกทั้งมีปัจจัยของปัญหาเกิดจากสถานการณ์ต่างๆ ทำให้งานก่อสร้างล่าช้าจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าอภิปรายในสภาเพื่อตั้งกระทู้ถามไปยังอธิบดีกรมชลประทาน ว่า จะมีวิธีเร่งรัดการทำงาน และการพิจารณางดลดค่าปรับจากการทำงานล่าช้าของผู้รับเหมาจำนวน 844 วัน (ค่าปรับวันละ 2 แสนกว่าบาท ) ที่จากเดิมหมดอายุสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 และขยายสัญญาเป็น พ.ศ.2566 ว่าจะดำเนินการเช่นไร

เพราะถ้าการดำเนินการสร้างอาคารบังคับน้ำหรือประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมทั้ง 4 แห่งได้สำเร็จได้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดผลดี เพราะจะทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ไม่น้อยกว่า 38.91 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะก่อประโยชน์ให้กับพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรในเขตจังหวัดพิษณุโลกและเขตจังหวัดพิจิตรได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวทั้งสิ้นประมาณ 198,746 ไร่ อันจะเป็นผลให้อาชีพเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำมีความมั่นคง มีความเข้มแข็งและก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไปอีกด้วย


สิทธิพจน์ เกบุ้ย

 

ข่าวที่น่าติดตาม