22/11/2024

ครบรอบ 135 ปี วันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 มอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ที่ให้การสนับสนุน

ครบรอบ 135 ปี วันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 มอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ที่ให้การสนับสนุน

 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 พ.อ.จักรพงษ์ โพธิ์นาแค ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 พร้อมด้วยข้าราชการ และพนักงาน ร่วมกันจัดงานเนื่องในวันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 ครบรอบ 135 ปี โดยมี พล.ต.ณรงค์ สวนแก้ว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 เป็นประธานในพิธีฯ ซึ่งในการจัดงานพิธีเนื่องในวันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 ในครั้งนี้ ได้มีการบวงสรวงถวายสักการะบูรพกษัตรย์, การประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับกำลังพลที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน , การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ/หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนภารกิจของ กรมทหารราบที่ 13 มาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีแขกผู้มีเกียรติ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งอดีต ผู้บังคับบัญชาของหน่วย , อดีตข้าราชการของหน่วย, นักธุรกิจจังหวัดอุดรธานี และส่วนราชการต่างๆ มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนี้หน่วยได้ดำเนินการจัดพิธีฯ ตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
พล.ต.ณรงค์ สวนแก้ว ผบ.พล.ร.3 ได้พบปะพูดคุยสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตข้าราชการของหน่วย เพื่อพัฒนาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนหาแนวทางให้การช่วยเหลือ เมื่อได้รับความเดือดร้อนในโอกาสต่อไป

“กรมทหารราบที่ 13” มีประวัติความเป็นมาดังนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยานมิต) เป็นแม่ทัพ จนเหตุการณ์สงบ เมื่อปี พ.ศ.2418 ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 พวกฮ่อรุกรานเมืองหลวงพระบางอีก จึงโปรดให้พระยาพิชัย (มิ่ง) พระยาสุโขทัย (ครุธ) ยกกำลังไปปราบ แล้วให้พระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) เป็นแม่ทัพ จนถึงปี พ.ศ. 2428 แต่ไม่สำเร็จ จึงได้ถอนกำลังจากทุ่งเชียงคำกลับมายังเมืองหนองคาย เนื่องจากขาดเสบียงอาหารและแม่ทัพ คือ พระยาราชวรานุกูล ถูกฮ่อยิงบาดเจ็บ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ

โดยจัดเป็นสองกองทัพคือกองทัพฝ่ายเหนือ มีนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อ ในแคว้นหัวพันห้าทั้งหกและแคว้นสิบสองจุไท กองทัพฝ่ายใต้ มีนายพันเอกพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้ พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค) เป็นทัพหน้าเข้าตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ จนกระทั่ง พ.ศ. 2429 สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบ จึงยกกำลังส่วนหนึ่งกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. 2540 และคงกำลังส่วนหนึ่งไว้ในบังคับบัญชาของ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทหารของ กรมทหารราบที่ 13 โดยมี พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บังคับหน่วยคนแรก และต่อมา ในปี พ.ศ.2434 ได้จัดตั้งเป็นมณฑลลาวพวน โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน มีกองบัญชาการมณฑลที่เมืองหนองคาย ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้ว ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรียกว่า “กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)” ด้วยพระปรีชาญาณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงยอมเสียสละส่วนน้อย เพื่อรักษาประเทศไว้ จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส และปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง ๒ ประเทศ โดยห้ามประเทศสยามตั้งกองทหาร และป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตรของฝั่งแม่น้ำโขง

ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2436 จึงได้เคลื่อนย้าย มณฑลลาวพวน ลงมาทางใต้เข้าที่ตั้งบริเวณบ้านหมากแข้งริมหนองนาเกลือ (หนองประจักษ์) กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2443 ได้เปลี่ยนนามหน่วยจากมณฑลลาวพวน เป็น มณฑลอุดร ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีอยู่ในเขตการปกครองของ มณฑลอุดร ขึ้นที่บ้านหมากแข้งโดยให้ย้ายกำลังทหารจากหนองนาเกลือ มาตั้งอยู่ที่ ริมหนองขอนกว้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายประจักษ์ศิลปาคมในปัจจุบัน กำลังทหารในขณะนั้นมี 2 หน่วยคือ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 และกรมทหารราบที่ 7

ปี พ.ศ.2451 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่เป็น กองทหารปืนใหญ่ที่ 10 และเปลี่ยนชื่อ กรมทหารราบที่ 7 เป็น กรมทหารราบที่ 20 ทั้ง 2 หน่วยขึ้นการบังคับบัญชากับ กองพลที่ 10 ปี พ.ศ.2454 กองทหารปืนใหญ่ที่ 10 ย้ายไปตั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนกรมทหารราบที่ 20 ย้ายไปตั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงได้จัดตั้งกรมทหารม้าขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี เรียกชื่อว่า กรมทหารม้าที่ 10 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2459 ยุบเลิก และเปลี่ยนเป็น กรมทหารราบในกองพลทหารบกที่ 10
ปี พ.ศ.2460 กรมทหารราบในกองพลทหารบกที่ 10 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 ครั้นถึงปี พ.ศ.2462 กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 10 ต่อมากรมนี้ได้ถูกยุบเมื่อปี พ.ศ.2470 เนื่องจากกองทัพบกได้ปรับปรุงกองทัพใหม่ แล้วตั้งเป็น กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 15


ปี พ.ศ.2471 กรมทหารราบที่ 15 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารราบที่ 6 โดยกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 15 เดิมได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 6 ส่วนจังหวัดทหารบกอุดร มีฐานะเป็นจังหวัดทหารบกชั้น 3 มีผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 6 เป็นผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในด้านกิจการต่างๆ ของสายงานจังหวัดทหารบกอุดร คงใช้เจ้าหน้าที่ของหน่วยกำลังรบเป็นส่วนใหญ่ ปี พ.ศ.2475 เปลี่ยนชื่อ กองพันที่ 2 เป็น กองพันทหารราบที่ 18 ปี พ.ศ.2477 กองพันทหารราบที่ 18 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันทหารราบที่ 22 ปี พ.ศ.2486 กองพันทหารราบที่ 22 ได้แบ่งแยกกำลังส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็น กรมทหารราบที่ 13 โดย กรมทหารราบที่ 13 มี พันโท มล.เอก อิศรางกูล เป็น ผู้บังคับการกรม และกองพันทหารราบที่ 22 มี พันโท รัตน์ นพตระกูล เป็นผู้บังคับกองพัน

ปี พ.ศ.2489 กองพันทหารราบที่ 22 เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันที่ 1 และกำหนดให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมทหารราบที่ 13 โดยทั้ง กรมทหารราบที่ 13 และ กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และในปีเดียวกัน ร.พัน.21 ได้ย้ายที่ตั้งจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มาตั้งที่หนองสำโรง โดยเปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองพันที่ 2 เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมทหารราบที่ 13
เมื่อปี พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ค่ายประจักษ์ศิลปาคม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ และถวายพระเกียรติแก่ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ในปี พ.ศ.2497 กองทัพบก ได้มีคำสั่ง ทบ. ที่ 28/4221 ลง 1 มีนาคม 2497 จัดตั้ง กองพันที่ 3 ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมทหารราบที่ 13 โดยมีที่ตั้งบริเวณฝั่งด้านทิศใต้ของหนองสำโรง ตำบลหมูม่น อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับกองพันที่ 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยจนถึงปัจจุบัน

และต่อมาในปี พ.ศ.2498 กรมทหารราบที่ 13 แปรสภาพเป็น กรมผสมที่ 13 จนถึงปี พ.ศ.2510 โดยผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุดร และผู้บังคับการกรมผสมที่ 13 ซึ่งเดิมเป็นคนเดียวกัน ได้แยกกันอย่างเด็ดขาด และมีบทบาทหน้าที่โดยเฉพาะตามตำแหน่งที่ปฏิบัติงาน
ในปี พ.ศ.2498 กรมทหารราบที่ 13 ได้แปรสภาพเป็น กรมผสมที่ 13 ตามคำสั่ง ทบ. ที่ 710/23760 ลง 10 พฤศจิกายน 2498 มีชื่อย่อหน่วยว่า “ผส.13” พร้อมทั้งให้เปลี่ยนการเรียกชื่อหน่วยขึ้นตรงจากกองพันที่ 1 , 2 และ 3 เป็น กองพันทหารราบที่ 1 , 2 และ 3 ตามลำดับ และมีชื่อย่อหน่วยว่า ผส.13 ร.พัน.1 , 2 และ 3 เมื่อเริ่มแปรสภาพหน่วย ก็ได้มีการนำวิทยาการสมัยใหม่แบบทหารยุโรปมาใช้กับหน่วย โดยมีการฝึกเริ่มต้นภายในที่ตั้งหน่วย และบริเวณโดยรอบค่ายทหาร ต่อมามีการใช้อาวุธขนาดหนัก มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ฝึกที่มีขนาดกว้างใหญ่มากขึ้น จึงได้ขยายผลไปฝึกในพื้นที่สนามฝึกรบในป่า อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา และได้ใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งกรมธนารักษ์ได้มอบให้ฝ่ายทหารได้ใช้ประโยชน์ในการฝึกจนถึงปัจจุบัน

 

ร.ต.กฤษฎา มณีใส กรมทหารราบที่ 13

ข่าวที่น่าติดตาม