“บิ๊กโจ๊ก” เดินหน้ากวาดล้างมาเฟียน้ำมันเขียว จับกลางอันดามัน เวียนเทียนใช้รหัสเรือจม โผล่เติมน้ำมัน
“บิ๊กโจ๊ก” เดินหน้ากวาดล้างมาเฟียน้ำมันเขียว จับกลางอันดามัน เวียนเทียนใช้รหัสเรือจม โผล่เติมน้ำมัน
จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติซึ่งเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการประมง รวมทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตามที่ทราบแล้ว นั้น
จากกรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเร่งด่วน
โครงการน้ำมันเขียว เป็นโครงการที่ภาครัฐจัดน้ำมันดีเซลที่เติมสารสีเขียวเพื่อให้แยกแยะจากน้ำมันบนฝั่งได้ และได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกประมาณลิตรละ ๖ บาท ซึ่งรัฐบาลจัดให้มีขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนการทำประมงให้กับชาวประมงพาณิชย์ตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ ในการบริหารจัดการมีอธิบดีกรมสรรพสามิตทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ ปัจจุบันมีเรือสถานีบริการ (Tanker) ๕๑ ลำ ให้บริการพี่น้องชาวประมงพาณิชย์ทั่วเขตทะเลไทย
ต่อมาประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” การทำประมง IUU จากสหภาพยุโรปเมื่อปี ๒๕๕๘ รัฐบาลดำเนินการจัดระเบียบการทำประมงประเทศไทยใหม่ทั้งระบบ ทำให้เรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับสิทธิเติมน้ำมันเขียวลดลงจาก ๑๐,๔๕๙ ลำ ในปี ๒๕๕๙ เหลือ ๘,๔๔๕ ลำ ในปี ๒๕๖๔ แต่ทว่าขณะที่เรือประมงพาณิชย์ที่เติมน้ำมันเขียวลดจำนวนลง แต่ปริมาณการจำหน่ายกลับมิได้ลดลงตามสัดส่วนจำนวนเรือ กลับ “คงที่อยู่ประมาณปีละ ๖๑๐ ล้านลิตร” คิดเป็นภาษีที่รัฐบาลยกเว้นถึงปีละประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านบาท หรือเท่ากับเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่เติมน้ำมันเขียว ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการยกเว้นภาษีที่ควรจะเสียประมาณ ๔๗๑,๗๑๗ บาท/ลำ/ปี
นอกจากนั้น การอุดหนุนภาคประมงพาณิชย์ด้วยการ “ยกเว้นภาษี” น้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่าราคาตลาดลิตรละ ๖ บาท หรือน้ำมันเขียว ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์การการค้าโลก (WTO) ให้ประเทศไทยชี้แจงว่า เป็นการอุดหนุนที่มีการบริหารจัดการอย่างเข้มงวดหรือไม่ เพื่อมิให้เป็นการสนับสนุนการทำประมง IUU การทำประมงทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ Over Fishing ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีแนวทางการบริหารจัดการ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่องค์การการค้าโลกจะประกาศให้ประเทศไทยต้องยกเลิกการอุดหนุนภาคประมงพาณิชย์ด้วยการยกเลิกโครงการน้ำมันเขียวทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรือประมงพาณิชย์ประเทศไทยอย่างกว้างขวาง
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จึงอนุมัติกรอบการชี้แจงกับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยยืนยันว่าประเทศไทยมีการกำกับดูแลที่ดีในการทำประมงไม่ให้เป็น IUU ทำลายล้างสัตว์น้ำ และมีระบบควบคุมดูแลการสนับสนุนการทำประมงอย่างดีมีประสิทธิภาพ ทำให้หน่วยงานภาครัฐโดยกรมสรรพสามิต ได้ประสานขอการสนับสนุนจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าตรวจสอบ สืบสวน เพื่อ “จัดระบบ” ควบคุมดูแลโครงการน้ำมันเขียว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด ไม่ให้ถูกนำไปใช้ในการทำประมง IUU การทำประมงทำลายล้างสัตว์น้ำ และการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ บนเรือประมง
จากการตรวจสอบข้อมูลเรือประมงที่มีสิทธิเติมน้ำมันเขียว ซึ่งต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกรมศุลกากร ที่ ๖๘/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ ประกอบด้วย ๑)ต้องเป็นเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงจากกรมประมง ๒)ต้องเป็นเรือประมงที่ผ่านการรับรองจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ๓)ต้องเป็นเรือประมงที่มีรหัสและรับรองจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยส่งให้กับกรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๘,๔๔๕ ลำ พบข้อมูลว่า มีเรือที่ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร แต่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ออกรหัสและรับรองให้เติมน้ำมันเขียว ถึง ๗๙๑ ลำ ประกอบด้วย เรือประมงพาณิชย์ไม่มีทะเบียนเรือ เรือประมงพาณิชย์ไม่มีใบอนุญาตประมงพาณิชย์จากกรมประมง เรือประมงพาณิชย์ที่แจ้งจมหรือทำลายไปแล้ว เรือประมงพาณิชย์ที่เปลี่ยนประเภทไปเป็นเรือบรรทุกสินค้า เรือลากจูง และเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดถังน้ำมันตั้งแต่ ๑,๕๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งเกินกว่าขนาดตัวเรือที่สามารถบรรทุกได้
เมื่อนำรายชื่อเรือพร้อมรหัสเติมน้ำมันเขียวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไปสอบยันกับข้อมูลการเติมน้ำมันเขียวที่ตำรวจน้ำได้รับจากเรือสถานีบริการ (Tanker) พบว่า มีเรือประมงที่ใช้รหัสของเรือประมงที่ขาดคุณสมบัติข้างต้น “ไปเติมน้ำมันเขียว” จำนวนหลายลำ และยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีเรือประมงอีกจำนวน ๕๙๙ ลำ ใช้รหัสเติมน้ำมันไม่ตรงกับรหัสเติมน้ำมันที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยออกให้และรับรอง “เข้ามาเติมน้ำมันเขียว” ด้วย เช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนเรือที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด “เติมน้ำมันเขียว” โดยขาดคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มีจำนวนถึง ๑,๓๙๐ ลำ
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงบูรณาการกำลังออกปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่าง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมเรือประมง ชื่อ ช.ศรีพลนภา ๕ ขนาด ๑๒๒ ตันกรอส ขณะทำการประมงบริเวณทะเลอันดามัน พื้นที่รอยต่อจังหวัดพังงาและระนอง โดยให้เข้าเทียบท่าที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา มีพฤติกรรมวนเวียนเติมน้ำมันจากเรือสถานีบริการ (Tanker) หลายลำ ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน โดยใช้รหัสเติมน้ำมันของ “เรือประมงที่แจ้งทำลายเรือ” ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และขยายผลเข้าตรวจค้นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ จากผู้เกี่ยวข้อง คือ เรือสถานีบริการน้ำมันเขียว บริษัทเข้าของเรือสถานีบริการน้ำมันเขียว รวมถึงสมาคมประมงที่ให้การรับรอง เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๘๙ ขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีคุณสมบัติ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาน้ำมันที่อยู่ในเรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเรือประมงที่ถูกจับกุมวันนี้บรรทุกน้ำมันประมาณ ๓๐,๐๐๐ ลิตร และได้เติมน้ำมันเขียวโดยใช้รหัสเติมน้ำมันเขียวจากเรือประมงลำอื่นที่แจ้งกับกรมเจ้าท่าว่า ถูกทำลายไปแล้ว จำนวน ๖ ครั้ง จะต้องโดนปรับ ๔,๓๒๐,๐๐๐ บาท นอกจากนั้น ยังเข้าข่ายกระทำความผิดพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๐๓ ฐานนำน้ำมันที่ยังไม่เสียภาษีสรรพสามิตเข้ามาในราชอาณาจักร มีโทษปรับสองถึงสิบเท่าของภาษี จึงจะต้องเสียค่าปรับอีก ๑๒,๖๐๐,๐๐๐ บาท รวมค่าปรับทั้งสองกฎหมาย รวม ๑๖,๙๒๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมการดำเนินคดีจากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นต้น และจะมีการจับกุมดำเนินคดี กับเรือประมงที่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันตามมาอีกจำนวนมากในทุกจังหวัดชายทะเล ซึ่งชุดปฏิบัติการได้กำหนดเป้าหมายไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เป็นต้นไป
นอกจากจะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มเรือประมงที่ไม่มีคุณสมบัติเติมน้ำมันเขียวแล้ว ในส่วนของเรือสถานีบริการ (Tanker) และสมาคมการประมง ที่ให้การรับรองคุณสมบัติและออกรหัสเติมน้ำมันเขียว ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยทั้งหมดเช่นเดียวกัน
“ผมขอเรียนว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมงที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตแต่อย่างใด ทุกท่านยังสามารถเติมน้ำมันเขียวได้ตามปกติเหมือนเดิมทุกประการ ผมขอย้ำว่าการทำงานของผมคือการแยกน้ำเสียออกจากน้ำดี ให้คนดีมีที่ยืนอย่างภาคภูมิใจในสังคม คนไม่ดีต้องได้รับการลงโทษ ซึ่งผมมั่นใจว่า พี่น้องชาวประมง ๙๕% เป็นคนดี หน้าที่ของผมคือ นำคนไม่ดี ๕% ไม่ให้ปะปนกับคนดีและทำให้คนดีได้รับความเสียหาย การบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานครั้งนี้ เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีของประเทศในภาวะที่ประชาชนกำลังได้รับความลำบาก แต่มีบางพวก บางกลุ่ม แสวงหาผลประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐดูแลสนับสนุนไป เพื่อประโยชน์ส่วนตัว สร้างความเสียหายจากมูลค่าภาษีที่รัฐควรจะได้ถึงปีละ ๗๐๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตามผมจะประสานงานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมประมง ในการเร่งรัดปรับปรุงกระบวนการควบคุม ดูแลการบริหารจัดการน้ำมันเขียวไม่ให้เกิดการกระทำความผิดเช่นนี้อีก โดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นประเทศของเราจะอยู่ในความเสี่ยงสูงที่จะถูกองค์การการค้าโลก (WTO) พิจารณายกเลิกมาตรการอุดหนุนการทำประมงโดยโครงการน้ำมันเขียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมงทุกคนอย่างร้ายแรง อีกทั้งโดนประชาคมโลกกล่าวหาว่าสนับสนุนการทำประมง IUU ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงไทยที่กำลังเป็นรายได้หลักของประเทศในขณะนี้”
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการประมงดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงลักษณะการทำประมงที่เป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป