22/11/2024

กาฬสินธุ์ จิตอาสาเร่งซ่อมแซมบ้านให้ครัวเรือนยากจนก่อนพายุฤดูร้อนจะมา

นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ นำจิตอาสาซ่อมแซมที่พักอาศัยให้ครัวเรือนยากจน ตามโครงการคนยางตลาดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์และกองทุนวันละบาท ขณะที่ชาวบ้านตื้นตันใจ ได้บ้านหลังใหม่ที่มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะพัดผ่านเข้ามาในช่วงนี้

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านโนนแดง หมู่ 20 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด เป็นประธานมอบบ้าน ตามโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนส โมเดล คนยางตลาดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้กับครอบครัวนายไพบูลย์ ภูโปร่ง บ้านเลขที่ 101 หมู่ 20 บ้านโนนแดง โดยมีนายเกรียงไกร โม้แพง กำนันตำบลบัวบาน นายยอดชาย ภูบุญอบ ผู้ใหญ่บ้านโนนแดง พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในเขต ต.บัวบาน และตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาชุมชน อ.ยางตลาด ร่วมเป็นสักขีพยาน


นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด กล่าวว่า ในการซ่อมแซมที่พักอาศัยให้กับครัวเรือนยากจนนั้น เป็นโครงการที่ทาง จ.กาฬสินธุ์ โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี ตามโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อจัดหางบประมาณปรับปรุง ซ่อมแซมที่พักอาศัยให้กับครัวเรือนที่ฐานะยากจน ได้มีที่พักอาศัยที่มั่นคง แข็งแรง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถดำเนินชีวิตแบบกินอิ่ม นอนอุ่น ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น


นายสันติกล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดลของอ.ยางตลาด ได้ให้ชื่อโครงการว่าคนยางตลาดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ได้มอบหมายผู้นำชุมชน สำรวจครัวเรือนที่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับความช่วยเหลือ เช่น ฐานะยากจน เป็นคนดี มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยในการซ่อมแซมที่พักอาศัยครั้งนี้ บ้านโนนแดง ต.บัวบาน ได้คัดเลือกครอบครัวนายไพบูลย์ ภูโปร่ง ทั้งนี้ งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซม ได้รับการสนับสนุนจากเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 13,000 บาท และงบประมาณจากผ้าป่ากองทุนวันละบาท ที่ทางอำเภอและผู้นำชุมชน ชาวบ้านใน อ.ยางตลาดร่วมกันจัดขึ้นอีกจำนวน 7,500 บาท เพื่อสมทบในส่วนของการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ในขณะที่แรงงานนั้น ได้รับความร่วมมือจากจิตอาสา โดยไม่มีค่าจ้างแต่อย่างใดเป็นการร่วมด้วยช่วยกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้การปรับปรุงซ่อมแซมที่พักอาศัยให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อไป


ด้านนายไพบูลย์ ภูโปร่ง เจ้าของบ้านกล่าวว่า เดิมสภาพตัวบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ที่เก่าทรุดโทรม เนื่องจากสร้างมานานหลายสิบปี ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา มีสมาชิกในครัวเรือน 9 คน ฐานะยากจน จึงไม่มีเงินส่วนตัวในการซ่อมแซมบ้าน ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือในการซ่อมแซมที่พักอาศัยให้มั่นคง แข็งแรง ก็คงต้องเสี่ยงกับอันตรายจากพายุฝน โดยเฉพาะในฤดูแล้งนี้ ที่อาจจะเกิดพายุฤดูร้อนพัดผ่านเข้ามา และพัดตัวบ้านพังเสียหายได้ ทั้งนี้ ขอขอบคุณนายอำเภอ ผู้นำชุมชนและจิตอาสา ที่ช่วยเหลือครอบครัวตนในครั้งนี้

ข่าวที่น่าติดตาม