สถาบันฮาลาล ม.อ. ปัจฉิมนิเทศและมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 1
สถาบันฮาลาล ม.อ. ปัจฉิมนิเทศและมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 1
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันฮาลาล จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คุณดำรง พุฒิตาล กรรมการอำนวยการสถาบันฮาลาล ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์ผู้สอน ผู้เรียน บุคลากร และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องคาลิส โรงแรมอัลฟาฮัจย์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 65
ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านฮาลาลและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้หลักสูตรการจัดการระบบมาตรฐานเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศ นักศึกษาหลักสูตร Non-degree การจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 1 ที่สำเร็จการศึกษา สามารถเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ให้คำปรึกษา และสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญงานด้านฮาลาลได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี กล่าวว่า สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดทำหลักสูตร Non-degree การจัดการระบบกิจการฮาลาล (Halal System Management) รุ่นที่ 1 ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ มีการเรียนการสอน เป็นระยะเวลา 4 เดือน และเป็นหลักสูตรใหม่ หลักสูตรแรกหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเคยจัดทำหลักสูตรนี้มาก่อน เพื่อยกระดับสมรรถนะกำลังคนในธุรกิจอาหารฮาลาลให้มีความรู้ความเข้าใจกิจการฮาลาลทั้งระบบแบบมืออาชีพ โดยผู้เรียนจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านฮาลาลที่สามารถให้คำปรึกษา บริหารจัดการ ควบคุม ตรวจสอบ และดูแลระบบฮาลาลในโรงงานอุตสาหกรรม และการจัดการระบบเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลได้ โดยผู้ผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรสามารถผลักดันและรักษามาตรฐานฮาลาลของสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเริ่มต้นรับสมัครผู้เรียนตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564 มีผู้เรียนทั้งหมด 36 คน ผู้เรียนภาคปกติ 29 คน และภาคสมทบ 7 คน มีการเรียนการสอนในภาคทฤษฎี 3 เดือน (ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564) และภาคปฏิบัติ ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามสมุทรปราการ 1 เดือน ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 27 ธันวาคม 2564 โดยมีการสอบวัดผลระหว่างวันที่ 17 – 18 มกราคม 2565
ทั้งนี้ ผู้เรียนได้สำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 29 คน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เรียนที่มีงานทำอยู่แล้ว จำนวน 6 คน ผู้เรียนที่มีงานทำหลังจากเรียนจบหลักสูตรนี้ จำนวน 8 คน และผู้เรียนที่ยังไม่มีงานทำ จำนวน 14 คน