สงขลา-ทึ่ง !! วัดควนเจดีย์ อุโบสถสร้างบนก้อนหินขนาดใหญ่ รวมทั้งเจดีย์และหอระฆัง โดยไม่มีการตอกเสาเข็ม สร้างมาเกือบ 100 ปี
สงขลา-ทึ่ง !! วัดควนเจดีย์ อุโบสถสร้างบนก้อนหินขนาดใหญ่ รวมทั้งเจดีย์และหอระฆัง โดยไม่มีการตอกเสาเข็ม สร้างมาเกือบ 100 ปี
เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในอดีต ที่ชาวเกาะแต้ว 2 ศาสนา ร่วมแรงร่วมใจสร้างวัดนี้ขึ้นมา ซึ่งจะต้องช่วยกันขนปูนอิฐหินดินทรายขึ้นมาบนควนเพื่อสร้างพระอุโบสถหลังนี้ ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเนินหินตรงนี้
วัดควนเจดีย์ หมู่ 7 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่เกือบ 100 ปีที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ราบสูง เป็นวัดที่ไม่เหมือนกับวัดทั่วๆไป สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้งเจดีย์ หอระฆัง กุฏิพระสงฆ์สร้างบนก้อนหินทั้งหมด โดยเฉพาะ อุโบสถขนาดใหญ่ก็ทำการก่อสร้างประดิษฐานอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่บนเนินเขา ซี่งเป็นจุดที่สูงที่สุดภายในวัดควนเจดีย์แห่งนี้
คุณประเสริฐ หนูทอง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะแต้วและคุณจรัญ หนูรักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลเกาะแต้ว ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูความแปลกของวัดควนเจดีย์แห่งนี้ ที่อยู่บนเนินเขาเต็มไปด้วยก้อนหินขนาดเล็กและขนาดใหญ่โดยเริ่มจากเจดีย์ที่สร้างบนก้อนหินขนาดใหญ่มีความโดดเด่นน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของชื่อวัดควนเจดีย์ มีบันไดทางขึ้นให้นักท่องเที่ยวได้เดินขึ้นไปสัมผัสองค์เจดีย์ได้และสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของวัดและบริเวณใกล้เคียง
และที่บริเวณใกล้เคียงกันก็จะมีหอระฆังที่สร้างอยู่บนก้อนหินเช่นเดียวกัน แต่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักโดยสร้างเป็นหอระฆังขึ้นไปบนก้อนหิน โดยไม่ต้องมีการตอกเสาเข็มแต่อย่างใดรวมทั้งกุฏิพระและศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างบริเวณเนินหินทั้งหมด
หลังจากนั้น ประธานสภาฯและผู้ใหญ่บ้านฯได้นำผู้สื่อข่าวเดินขึ้นบันไดขึ้นไปที่อุโบสถบนเนินหินที่สูงที่สุดของวัดควนเจดีย์แห่งนี้โดยมีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านข้างที่ลัดเลาะมาตามซอกหินโดยอุโบสถของวัดควนเจดีย์ได้ทำการก่อสร้างบนก้อนหินขนาดใหญ่โดยไม่ต้องมีการตอกเสาเข็มแต่อย่างใดผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังว่า สำหรับพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านเกาะวา ตำบลเกาะแต้ว จะมีประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม จากปากคำที่เล่าขานกันมาทำให้ทราบว่าที่ดินวัดควนเจดีย์จำนวน 26 ไร่เป็นการบริจาคของชาวเกาะแต้ว 2 ศาสนาทั้งพี่น้องชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมเพื่อนำมาสร้างวัดแห่งนี้ ในส่วนของการก่อสร้างมีพี่น้องทั้งสองศาสนามาร่วมด้วยช่วยกันขนปูนหินดินทรายขึ้นมาก่อสร้างเนื่องจากบริเวณนี้มีความสูงและต้องใช้แรงงานคนทั้งหมดเนื่องจากสมัยก่อนไม่มีเครื่องจักรที่ทันสมัย
ชุมชนตำบลเกาะแต้ว จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของชุมชน และความโดดเด่นของธรรมชาติที่สวยงาม โดยกำหนดจุดท่องเที่ยวเส้นทางแรก 4 จุด คือ 1.วัดควนเจดีย์ 2.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง3.ทุ่งนาบัวคลองควายและ 4.ชายหาดบ่ออิฐ ชายหาดแห่งเดียวของตำบลเกาะแต้ว
คุณประเสริฐ หนูทอง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะแต้ว กล่าวว่า วัดควนเจดีย์ที่นี่มีพิเศษก็คือทุกสิ่งที่เป็นวัตถุตั้งแต่อุโบสถสร้างอยู่บนก้อนหินโดยไม่มีเสาเข็มเป็นการสร้างแบบการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านทั้งหมด ขนอิฐหินปูนทรายขึ้นมาข้างบนก้อนหินเพื่อมาสร้างอุโบสถ ในเรื่องของเจดีย์สร้างอยู่บนก้อนหินเช่นเดียวกันและมีหอระฆังก็ยังสร้างอยู่บนก้อนหิน อันนี้เป็นวิธีการบริหารจัดการพื้นที่ของคนสมัยก่อน ที่คิดว่าน่าจะใช้พื้นที่บนก้อนหินเป็นที่สร้างสิ่งปลูกสร้างและที่โล่งๆก็จะเป็นที่ใช้สอยอย่างอื่น
คุณจรัญ หนูรักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลเกาะแต้ว กล่าวเสริมว่า ส่วนของอุโบสถและหอระฆังรวมทั้งเจดีย์ไม่มีการตอกเสาเข็มอยู่บนก้อนหินซึ่งเป็นพื้นฐานที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากคิดว่าเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อน ผมยังซึ้งเลย เราเกิดมาก็เห็นเป็นรูปร่างแบบนี้แล้ว ทำให้หินมีประโยชน์กับเอามาใช้สร้างหอระฆังสร้างเจดีย์สร้างอุโบสถซึ่งเป็นปฏิมากรรมที่คงจะไม่มีในวัดแถวๆนี้ วัดนี้สร้างมานานประมาณ 85 – 86 ปีแล้ว
ท่านที่สนใจท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมพร้อมธรรมชาติที่สวยงามตามวิถีชุมชนคนเกาะแต้ว สนใจติดต่อ คุณประเสริฐ หนูทอง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะแต้ว โทร 08 4993 8458 ,นายจรัญ หนูรักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 โทร 09 9278 5814
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา