“สกลธี” รองผู้ว่ากรุงเทพฯพร้อมภาคีเครือข่ายเปิดโครงการจ้างงานคนพิการ กรุงเทพมหานคร
“สกลธี” รองผู้ว่ากรุงเทพฯพร้อมภาคีเครือข่ายเปิดโครงการจ้างงานคนพิการ กรุงเทพมหานคร
วันที่ 2 มีนาคม 2565 ณ.หอประชุมมูลนิธิออทิสติกไทย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการ “สนับสนุนการจ้างงาน สร้างอาชีพสำหรับคนพิการ” พบช่วยคนพิการมีงานทำกว่า 7,000 คน สร้างอาชีพกว่า 20,000 งาน ลดบริษัทส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อคุณภาพชีวิตดีอย่างยั่งยืน
โดยภาคีเครือข่ายประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้คนพิการมีงานทำ สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
“นายสกลธี ภัททิยกุล” รองผู้ว่าราชการกรุงทพมหานคร กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการจ้างงาน สร้างอาชีพสำหรับคนพิการ กรุงเทพมหานคร ที่มีเจตนารมณ์สนับสนุน ให้คนพิการมีอาชีพและมีงานทำ ที่ผ่านมาได้ผลักดันหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครให้เร่งรับคนพิการเข้าทำงานโดยตลอด ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2565 สำนักพัฒนาสังคมจะต้องดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานให้ได้มากขึ้นประมาณ 306 คน คาดว่าจะเริ่มจ้างงานคนพิการเข้าทำงานได้ในเดือนพฤษภาคม 2565 และจะเสนอขอตั้งงบประมาณต่อเนื่องไว้สำหรับปีงบประมาณ 2566 นอกจากนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคนพิการให้มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพตรงกับความต้องการของหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชนที่จะสามารถรับเข้าทำงานตามคุณวุฒิและคุณสมบัติที่กำหนด พร้อมจะทำงานเชิงรุกในการแก้ปัญหาเรื่องช่องทางสมัครงาน และการว่าจ้างงานที่ทำให้คนพิการไม่มีงานทำ นายสกลธี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนพิการได้มีงานทำ 2 เรื่องหลัก ดังนี้ 1.ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้คนพิการ โดยเปิดศูนย์ส่งเสริมทักษะอาชีพสำหรับคนพิการ ที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร หนองจอก และทุ่งครุ เพื่อพัฒนาศักยภาพ สร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพ นำร่องใน 5 หลักสูตร กับกลุ่มที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ หลักสูตรสอนการปลูกผักออแกนิค การเพราะเห็ด หลักสูตรบาริสต้า หลักสูตรคอมพิวเตอร์พื้นฐาน และหลักสูตรการเขียนโปรแกรม และในอนาคตเตรียมขยายเพิ่มหลักสูตรอบรมให้มากขึ้นตามความต้องการของคนพิการและสังคมต่อไป
และ 2.สร้างเว็บไซต์ bangkok.skynebula.tech เปิดพื้นที่ ให้คนพิการที่มีความพร้อมและประสงค์จะสมัครงาน และนายจ้างที่ต้องการรับผู้พิการเข้าทำงานได้พบกัน และเกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้พิการก็สามารถเลือกตำแหน่งงาน ในหน่วยงานที่ตนต้องการสมัครได้ และนายจ้างก็สามารถเข้ามาในเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อค้นหาผู้พิการที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ เข้าสู่กระบวนการนัดหมาย สอบ สัมภาษณ์ และรับเข้าทำงาน ได้รวดเร็ว และหลากหลายขึ้น “นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ” ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่า โครงการศูนย์ส่งเสริมทักษะอาชีพสำหรับคนพิการ กรุงเทพมหานคร จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับคนพิการ เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะไปต่อยอดสร้างอาชีพให้ตนเองและครอบครัว หรือสามารถสมัครงานในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้พิการ ก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ซึ่งคนพิการจำเป็นต้องมีโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ อาทิ หลักสูตรระยะสั้นในการเรียนรู้ให้เหมือนกับคนทั่วไป เพื่อเพิ่มทักษะและความชำนาญด้านวิชาชีพ จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยจัดฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับคนพิการ 5 วิชา ได้แก่ หลักสูตรการผลิตเห็ดเพื่อการค้า หลักสูตรการออกแบบเว็บไซต์ หลักสูตรคอมพิวเตอร์เบื้องต้น หลักสูตรเครื่องดื่มตามสมัยนิยม และหลักสูตรการเพาะต้นอ่อนพืชออร์แกนิค ตั้งเป้าหมายรับคนพิการทุกประเภทเข้าอบรม จำนวน 150 คน ซึ่งการฝึกอบรมอาชีพสำหรับคนพิการจำเป็นต้องมีการออกแบบ การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของคนพิการ แต่ละบุคคลที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป
“นางภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าวว่า “คนพิการ” คือ 1 ใน 11 กลุ่มประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่ต้องได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาวะในชีวิตทุกมิติ เพื่อให้มี “สิทธิ ศักดิ์ศรี คุณค่า และพึ่งพาตัวเอง” ได้เหมือนคนทั่วไป ทำให้ สสส. ขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน เพื่อทำให้คนพิการมีงานทำ ภายใต้การจ้างงานเชิงสังคมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 33 และ มาตรา 35 ส่วนสถานประกอบการที่ไม่จ้างงานคนพิการ ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 จากการทำงานเชิงรุกของ สสส. และภาคีเครือข่าย ทำให้คนพิการมีอาชีพกว่า 7,000 คน สร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงาน 20,000 งาน มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 300 บริษัท สามารถลดการส่งเงินเข้ากองทุนฯ กว่า 6 พันล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าคนพิการทำงานได้จริงเหมือนคนทั่วไป นางภรณี กล่าวต่อว่า สสส. หาวิธีแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงาน ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย ในการพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนการมีงานทำ สำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และทดลองใช้ในหน่วยงานของรัฐ โปรแกรมนี้สามารถวิเคราะห์รูปแบบงาน ขั้นตอนการฝึก และระบบสนับสนุนที่เหมาะสมกับคนพิการ เพื่อประเมินอาชีพด้วยการสอนงานให้คนพิการ 2 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1.อาชีพอิสระ เช่น งานศิลปะ และการจัดทำ E-Book และ 2.อาชีพในหน่วยงาน เช่น การใช้เทคโนโลยีทำงาน การฝึกทักษะและสมรรถนะทางสังคม (Social Competency) เพื่อใช้เป็นทักษะทำงานร่วมกับคนในสถานประกอบการ
“การทำให้คนพิการมีทักษะอาชีพที่เหมาะสม มีงานทำ มีรายได้ เป็นต้นทุนชีวิตสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อให้คนพิการมีความเป็นอยู่ที่ดี และหันมาใส่ใจสุขภาวะ สสส.สนับสนุนการเปิดศูนย์ส่งเสริมทักษะอาชีพคนพิการในกรุงเทพมหานคร และยินดีส่งเสริม สนับสนุน การจ้างงานคนพิการทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงาน การประสาน การส่งต่อคนพิการ ร่วมกับศูนย์บริการคนพิการในเครือข่าย ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน” นางภรณี กล่าว
นอกจากนี้ยังมี นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผอ.กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ / นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร / นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (กรุงเทพมหานคร) / นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย / นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย / นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมตาบอดแห่งประเทศไทย และตัวแทนคนพิการแต่ละประเภท ให้เกียรติร่วมพิธีเปิดโครงการนี้ด้วย