23/11/2024

ปทุมธานี-นายกแจ๊ส จับมือ ม.เกษตร วิจัยใช้เชื้อรากำจัดผักตบชวาหากใช้ได้จริงเตรียมสอนชาวบ้าน

ปทุมธานี-นายกแจ๊ส จับมือ ม.เกษตร วิจัยใช้เชื้อรากำจัดผักตบชวาหากใช้ได้จริงเตรียมสอนชาวบ้าน
*****************************

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 เวลา 15:00 น. ที่สะพานข้ามคลองบางโพธิ์ หน้ามัสยิดเราะห์มาตุ้ลอิสลามียะห์ (200 ปี) หมู่ 3 ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และทีมงานผู้บริหาร อบจ.ปทุมธานี ชมการสาธิตการฉีดพ้นสารกำจัดผักตบชวา พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่น ร่วมรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการใช้สารชีวภัณฑ์จากเชื้อราที่ก่อโรคใบไหม้ โดย ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นการกำจัดผักตบชวาจากการใช้สารชีวภัณฑ์จากเชื้อรา ได้เลือกคลองในพื้นที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อทดลองหากใช้ได้จริงจะสอนชาวบ้าน

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า วันนี้เราได้นำเชื้อราควบคุมผักตบชวามาทดลองเป็นวันแรก ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เขาได้นำเชื้อราของผักตบชวานำมาผ่านกระบวนการวิจัย จากนั้นนำมาฉีดที่ผักตบชวา ทำให้ผักตบชวาย่อยสลายไป โดยที่ไม่ทำให้น้ำเน่า ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย และไม่ทำให้พืชผักอย่างอื่นตาย วัชพืชที่ตายจะเป็นผักตบชวาเท่านั้น วันนี้เราได้นำน้ำยาตัวนี้มาทำลองและจะมีการประเมินผลเป็นระยะว่าใช้ระยะเวลากี่วันผักตบชวาถึงย่อยสลายไป ซึ่งเราได้ประสาน สจ.และนายก.อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำในพื้นที่เข้ามาช่วยกันดูแล หากน้ำยาตัวนี้ใช้ได้ผลจริง ๆ เราจะจัดซื้อหัวเชื้อจากทางมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะนำมาสอนให้พี่น้องประชาชน เอามาผลิตเองได้ไม่ยากเป็นสิ่งที่เราได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

นอกจากนี้น้อง ๆ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่มาดูด้วยการทำงานด้วยซึ่งจะมีการประเมินผลกันอีกต่อไป ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวว่า เชื้อราที่ก่อโรคใบไหม้เฉพาะในผักตบชวา เราได้เก็บเชื้อพวกนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะศึกษาวิจัยในการที่จะเพาะเลี้ยงให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างเอนไซม์ที่เหมาะสม จากนั้นนำกลับไปฉีดผักตบชวาเป็นการใช้เชื้อในตัวเขาเองฆ่าตัวเอง เพราะฉะนั้นเชื้อตัวนี้เป็นเชื้อที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาเราได้ทดสอบด้านความปลอดภัยหลายด้านมาก โดยเฉพาะความปลอดภัยที่อยู่ใน พรบ.กรมวิชาการเกษตร เราได้ทดสอบผ่านทั้งหมด มีความปลอดภัยในทุกมิติ ทั้ง หนู กระต่าย ลูกปลา พืช มนุษย์ นอกจากนี้ยังส่งไปทดสอบยังแลปต่างประเทศ ส่วนในเรื่องของผลกระทบต่อน้ำ เราได้ทดสอบหลายครั้ง ทั้งกรมชลประทาน สำนักงานสิ่งแวดล้อม ได้มาเก็บตัวอย่างไปตรวจหลายครั้งก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยในทุกมิติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

ข่าวที่น่าติดตาม