สตูล สหกรณ์จังหวัดสตูล จัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายสักการะพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2565
สตูล สหกรณ์จังหวัดสตูล จัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายสักการะพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2565
วันนี้ 7 ก.พ. 2565 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล จัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยมีนายนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธี อ่านสารจากนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ และมอบเกียรติบัตรสหกรณ์ดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2564 พร้อมด้วยนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล, นายถาวรศักดิ์ รัตนชูศรี สหกรณ์จังหวัดสตูล พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และขบวนการสมาชิกสหกรณ์จังหวัดสตูล เข้าร่วมภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ที่หอประชุม 100 ปี โรงเรียนสตูลวิทยา พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญวังหน้าในรัชกาลที่ 5 และเจ้าจอมมารดาเลี่ยม มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสต้นสกุล “รัชนี” ได้ทรงร่ำเรียนหนังสือตั้งแต่เยาว์พระชันษา และทรงรับราชการในหลายกระทรวง ทบวง กรมเนื่องด้วยพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ทรงมีพระสติปัญญาสามารถในราชการ และเป็นผู้แตกฉาน ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ และ2456 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เฉลิมพระยศพระองค์เจ้ารัชนีเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามจารึกในพระสุพรรณปัฏว่าพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณมุกสิกนาม ทรงศักดินา 11,000 ไร่ ต่อมาในปี 2458 ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ทรงนำเอาวิธีการสหกรณ์มาใช้ แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยทรงเลือกสหกรณ์เครดิตแบบ ไรฟ์ไฟเซน เหมาะกับสภาพของกสิกรและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็น”นายทะเบียนสหกรณ์” พระองค์แรก และจดทะเบียนสหกรณ์แห่งแรกขึ้นเป็นสหกรณ์ประเภทหาทุน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ในชื่อ“สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ที่ จ.พิษณุโลก.” ถือเป็นกำเนิดสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทย และต่อมาสหกรณ์ก็ได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ จนได้รับยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” ด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงมีคุณูปการต่อระบบสหกรณ์ประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ พ้นจากภาวะหนี้สินมีทุนในการประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดผลดีในการพัฒนาประเทศแสดงให้เห็นถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ควรค่าต่อการน้อมรำลึกถึง และสานต่อวิธีการสหกรณ์ให้แพร่หลาย เพื่อประโยชน์สุขของมวลสมาชิกสืบไป
นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล