อบจ.ระยอง เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่1โครงการออกแบบรายละเอียดศูนย์ศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ
อบจ.ระยอง เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่1โครงการออกแบบรายละเอียดศูนย์ศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ ศาลาสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานฯ นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เป็นประธานกล่าวเปิดงานฯ อาจารย์หทัยรัตน์ บัณฑิตยารักษ์ เป็นผู้กล่าวรายงานฯ โดยมี นายไพรัตน์ อรุณเวสสะเศรษฐ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเพ และ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน ร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่1โครงการออกแบบรายละเอียดศูนย์ศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น นายประสานต์ พฤกษาชาติ กล่าวถึง
1.เหตุผลและความจำเป็น
สวนพฤกษศาสตร์บ้านเพตั้ง (ชื่อเดิมคือ สวนรุกขชาติเพ) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ บริเวณชายหาดบ้านเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยองอยู่ในเขตพื้นที่ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านเพโดยมีเนื้อที่ประมาณ ๖๒๕ ไร่ ทั้งนี้แต่เดิมชาวบ้านนิยมเรียกว่า “สวนสน” ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์และชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง ในปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพแห่งนี้สังกัด ฝ่ายจัดการแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ ส่วนพัฒนาและเผยแพร่การเรียนรู้ สำนักวิจัยและการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยภาพรวมของพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะภูมิประเทศสวนป่าชายหาดโดยมีพรรณไม้หลากหลายพันธุ์ อาทิ ยางนา ตะเคียนทอง กระทิง เสม็ด พะยอม เหียง มะค่า แต้ เท้ายายม่อม และ ดองดึง เป็นต้น ขณะที่สวนรุกขชาติเพตั้งอยู่บนราบชายหาด อยู่ติดทะเลเป็นแนวยาวประมาณ 2.8 กิโลเมตร นอกจากสวนสนประดิพัทธ์ที่ปลูกริมชายทะเลแล้ว สวนรุกขชาติเพ ยังมีป่าชายหาดที่สมบูรณ์มากที่สุดในประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากศักยภาพพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ พบว่ามีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในการศึกษาธรรมชาติได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ในการก่อสร้างโรงพยาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน โดยจะเป็นแหล่งสันทนาการและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความสมบูรณ์และสิ่งมีชีวิตและพันธุ์พืชซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของโรงพยาบาลได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติรวมทั้งได้พักผ่อนหย่อนใจในสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ
องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองได้ดำเนินดการจ้างศึกษาและสำรวจพื้นที่จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ ตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ นิเวศวิทยา การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การเชื่อมโยงเข้าสู้การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจังหวัดระยอง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป จากการศึกษาพบว่าสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ มีที่ตั้งอยู่บริเวณไกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประชาชน นักท่องเที่ยงและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติของเด็กและเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยว เป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกายของผู้ที่มาใช้บริการของศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว พฤกษศาสตร์ นิเวศวิทยาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจังหวัดระยอง และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในพื้นที่และได้แบบรายละเอียดโครงการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จึงจำเป็นต้องดำเนินการจ้างออกแบบรายละเอียดศูนย์ศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อออกแบบรายละเอียดของพื้นที่โครงการ เพื่อเป็นแนวทางในการก่อสร้างให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไป
๒. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อออกแบบการพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์และพื้นที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว (Landmark) ของจังหวัดระยอง รองรับการพัฒนาสู่การเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
2.2 เพื่อออกแบบ (Master Plan) การกำหนดโซนนิ่ง กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยงให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่
2.3 เพื่อออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์ เพื่อทำกิจกรรมสันทนาการ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และพื้นที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่
2.4 เพื่ออกแบบและจัดทำรูปแบบรายละเอียดของสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นและส่วนควบคุม
ในสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ เพื่อทำกิจกรรมสันทนาการ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และพื้นที่เชื่อมโยง
แหล่งท่องเที่ยวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ รวมทั้งรองรับการเติบโตและการขยายตัวของประชาชนในพื้นที่
๓. สาระสำคัญของโครงการ
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับทราบข้อมูลการดำเนินโครงการ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองจึงเห็นควรให้ทุกภาคส่วน
ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีบทบาทในการรู้ข้อมูลการดำเนินโครงการ จึงจัดประชุมแนะนำโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงความเป็นมาของโครงการ รายละเอียดโครงการ ลักษณะโครงการ และแนวทางการดำเนินการศึกษาให้กับประชาชน หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นมาใช้ประกอบการศึกษาและการจัดทำรายงานฯ ให้ครบถ้วน
-สามารถออกแบบและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในสวนพฤกษศาสตร์ให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์และพื้นที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนและการระบุความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของทำเลที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น มีความเหมาะสมและสอดคล้อง
กับสภาพปัญหาและสภาพแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่
-สามารถออกแบบการพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์
ให้เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้สอดคล้องกับการสนับสนุนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด/กลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกอย่างยังยืน
-เพื่อให้การออกแบบสามารถทบทวนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้ และช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจถึงผลกระทบของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยงนี้ในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะช่วยในการป้องกันและ
ลดผลกระทบด้านบวกและด้านลบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับโครงการ
-สามารถออกแบบรายละเอียด และจัดทำรูปแบบรายงานก่อสร้าง (Detail Design) ของโครงการรวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ให้มีความเหมาะสมและความถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล จะใช้ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นอันจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดระยอง และใช้เป็นพื้นที่สันทนาการของประชาชนในพื้นที่
ชมรมหนังสือพิมพ์และสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ข่าว/ภาพ
ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน