ขอนแก่น-ผลสำรวจ Aem Center สิงคโปร์ “นาวิน” เพื่อไทย นำ”สมศักดิ์” พรรคเศรษฐกิจไทย ส.ส.พื้นที่เขต 7 ขอนแก่น
Asia e Learning Management Center ( Aem ) สิงคโปร์ เผยผลสำรวจท่าทีประชาชนต่อการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอนแก่น เขต 7 ปรากฏว่า ‘เพื่อไทย’ นำทั้งนี้เพราะ ‘พรรคเพื่อไทย’ มีคนทำงานในพื้นที่
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัด ได้เปิดเผยผลงานของ ดร. ขจรอรรถพณ พงศ์วิริทธิ์ธร (Assoc. Prof. Dr. Kajornatthapol Pongwirintthon, Nobel University, USA) นักวิจัยของ Asia e Learning Management Center ( Aem ) ซึ่งเคยเก็บข้อมูลและทำวิจัยสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 24 มีนาคม 2562 ได้ย้อนกลับไปที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ -11 มีนาคม 2565 และทดลองสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอำเภอหนองเรือและอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น หรือ พื้นที่เขต 7 เดิม จำนวน 1,237 คน และพบว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ มีคะแนนนำพรรคการเมืองอื่น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน พื้นที่ ดังกล่าว เป็นพื้นที่ของ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ แต่ ส.ส. พื้นที่เป็นของ’พรรคเศรษฐกิจไทย’ ทั้งนี้เพราะ ‘พรรคเพื่อไทย’ มีคนทำงานในพื้นที่
แต่ที่น่าแปลกใจที่ชื่อ ‘นาย นาวิน คำเวียง’ มีคะแนนนำ ‘นายสมศักดิ์ คุณเงิน’ อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทยและได้รับการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 22 ธันวาคม 2562 เป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐและปัจจุบันได้ย้ายไปสังกัด ‘พรรคเศรษฐกิจไทย’ และ นำ ‘นายธนิก มาสีพิทักษ์’สมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 ซึ่งลงแข่งกับ’นายสมศักดิ์ คุณเงิน’ ปลายปี 2562 และมีคะแนนห่างกัน 2,192 คะแนน จาก 271 หน่วยเลือกตั้งในขณะนั้น
ดร.ขจรอรรถพณ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ AeM Center ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า นายนาวิน คำเวียง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 7 ในนามพรรคประชาชาติ ในคราวเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 และพรรคประชาชาติ เคยมีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมปลายปี 2562 แต่ท้ายที่สุดพรรคประชาชาติได้ตัดสินใจถอนชื่อออกเพื่อให้พรรคเพื่อไทย ส่ง นายธนิก มาสีพิทักษ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ซึ่งลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐและได้เป็น ส.ส.ในที่สุด
ดร.ขจรอรรถพณ กล่าวด้วยว่าอดีตผู้สมัคร หรือ ว่าที่ผู้สมัคร จะต้องหมั่นและขยันลงพื้นที่ พร้อมทั้ง สร้างความคุ้นเคยกับพี่น้องประชาชน ตลอดจน ต้องร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนทั้งในและนอกสถานที่ ตลอดจน ต้องสร้างความคุ้นเคยและใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อสาธารณะ ( social media) เป็นกลยุทธ์ในการสร้างเครือข่ายและใช้เป็นกลไกลในการติดต่อกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง
“มั่นใจว่า ทุกพรรคการเมือง จะต้องงัดกลยุทธ์เพื่อชิงนำ พร้อมทั้ง นำเสนอ หรือ ขายนโยบายและส่งผู้สมัครที่โดนใจ ตลอดจน ทุกพรรคการเมือง คงจะสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตเลือกตั้ง ดังกล่าวและเขตเลือกตั้งอื่นๆ ก่อนจะส่งผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็นตัวแทนในแต่ละเขตอย่างเป็นทางการ ตามกระบวนการ หรือ ข้อกฎหมาย ในระยะเวลาอันใกล้นี้และใช้ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนประกอบ ตลอดจน อ้างอิงในการคัดเลือก หรือ สรรหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในแต่ละเขต” ดร.ขจรอรรถพณ กล่าวทิ้งท้าย.