23/11/2024

กาฬสินธุ์ ชาวบ้านแห่สะเดาะเคราะห์ขอความสิริมงคลผ่านพ้นโควิด

ชาวบ้านในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สืบสานคติความเชื่อหลังปีใหม่และต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ จัดกระทงใบตองเครื่องเซ่นสรวง อุทิศส่วนกุศลให้กับสิ่งชั่วร้าย เจ้ากรรมนายเวร และอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยน้อมจิตอธิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคุณพระศรีรัตนตรัย เพื่อความเป็นสิริมงคล ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 และปลอดภัยจากพายุฤดูร้อน

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ที่ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ชัยบ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านจำนวน 15 คน นำโดยนางหวานเย็น ภูนาปี, นางคำปลิว ภูอวด, นายฉัตรชัย ภูแป้ง ครูชำนาญพิเศษ ร.ร.เขาพระนอนวิทยาคม ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด พร้อมบุตรหลาน 9 ครอบครัว นำกระทงใบตองเครื่องเซ่นสรวง ที่ประกอบด้วยอาหารคาวหวาน ข้าวตอก ตอกไม้ หมาก พลู ผลไม้ หุ่นหรือสัญลักษณ์แทนรูปคนและทรัพย์สิน เพื่อประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์หรือเสียเคราะห์หลวง โดยมีพระครูโพธิชยานุโยค เจ้าคณะตำบลบัวบาน เขต 1 นำประกอบพิธี


พระครูโพธิชยานุโยค กล่าวว่า พิธีเสียเคราะห์หลวงหรือการแต่งเสียเคราะห์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แต่งแก้” นั้น เป็นความเชื่อที่สืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เดิมเป็นพิธีทางพราหมณ์ ซึ่งจะมี “หมอพราหมณ์” เป็นผู้นำในการประกอบพิธี โดยสมัยก่อนจะเห็นทำพิธีกันที่บ้าน ทั้งนี้ เป็นคติความเชื่อเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ขจัดสิ่งที่ไม่เป็นมงคลที่เคยพบพาน หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งนิยมปฏิบัติในช่วงหลังปีใหม่ หรือเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ในระยะหลังๆมานี้ ในส่วนชาวบ้านพื้นที่ ต.บัวบาน จะนิยมมาประกอบพิธีที่วัด เนื่องจากหมอพราหมณ์หรือผู้นำในการประกอบพิธีหายาก เพราะไม่มีใครสนใจสืบสาน


พระครูโพธิชยานุโยคกล่าวอีกว่า ชาวบ้านที่มีความเชื่อที่จะทำพิธีเสียเคราะห์หลวงหรือแต่งแก้ดังกล่าว จึงจัดกระทงใบตองพร้อมเครื่องเซ่นสรวงมาทำพิธีที่วัด โดยนิมนต์ให้ตนเป็นผู้นำประกอบพิธี ซึ่งตนก็ไม่ขัดศรัทธา นำพาชาวบ้านประกอบพิธี ซึ่งเป็นการผสมผสานทั้งทางพุทธกับทางพราหมณ์ ตามคำกล่าวที่ว่าพุทธกับไสยไปด้วยกัน มีการปฏิบัติติดต่อกันมาหลายปี บางปีมีการนัดหมายจัดพร้อมกันหลายครอบครัวหรือทั้งหมู่บ้าน แต่ช่วงนี้อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 จึงทยอยกันมาเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย เพื่อลดความแออัด ทั้งนี้ เป็นความเชื่อที่ปลูกฝังมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเป็นคามเชื่อส่วนบุคคล


ด้านนางคำปลิว ภูอวด อายุ 77 ปี กล่าวว่า พิธีแต่งแก้ ความหมายก็คือการแต่งหรือการแก้ไข เพื่อให้ชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งนี้ตนได้ร่วมกับญาติพี่น้องพาลูกหลานจัดทุกปี โดยจะจัดช่วงที่ลูกหลานอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในพิธีด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ช่วยกันจัดทำกระทงใบตอง จัดหาเครื่องเซ่นสรวงให้ครบถ้วน จากนั้นเข้าร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์หรือแต่งแก้ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับสิ่งชั่วร้าย เจ้ากรรมนายเวร และอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ที่จะเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจ ขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงรอบปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะเกิดความเป็นสิริมงคล มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง ทุกคนในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข คิดหวังสิ่งใดได้ตามความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ


ขณะที่นายฉัตรชัย ภูแป้ง ครูชำนาญพิเศษ ร.ร.เขาพระนอนวิทยาคม กล่าวว่า พิธีเสียเคราะห์หลวงหรือเสียเคราะห์ปีดังกล่าว เป็นความเชื่อที่ปลูกฝังมาหลายชั่วอายุ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสิ่งไม่ดี ที่อาจจะเข้ามาในชีวิต และรับสิ่งใหม่ๆ ดีๆ ในโอกาสต้อนรับปีใหม่ไทย ในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งหลังจากทำพิธีแล้วทุกคนก็เกิดความสบายใจ สำหรับตนยังได้อธิษฐานขอพรคุณพระศรีรัตนตรัย ปกป้องคุ้มครองทุกคนในครอบครัว ให้มีสุขภาพกายที่เข้มแข็ง สุขภาพจิตที่ดี โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่อยู่ในสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ขอให้ทุกคนมีกำลังใจที่กล้าแกร่ง ก้าวผ่านสถานการณ์นี้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังขอให้ชุมชนเกิดความสงบสุข และปลอดภัยจากพายุฤดูร้อนในช่วงนี้อีกด้วย

ข่าวที่น่าติดตาม