สระบุรี-แถลงข่าว จัดงาน “ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนานไท-ยวน ประจำปี 2565”
สระบุรี-แถลงข่าว จัดงาน “ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนานไท-ยวน ประจำปี 2565”
จังหวัดสระบุรีจัดแถลงข่าวเตรียมจัดกิจกรรมงาน “ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนานไท-ยวน ประจำปี 2565” เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามในท้องถิ่นที่จะสูญหายไป และเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอำเภอเสาไห้ โดยมีนางอังคณา ชิตะติดติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมฯ พร้อมด้วยนางดวงเดือน สดแสงจันทร์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี นายพชร ศรีมหาเอก ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอเสาไห้ และอาจารย์ดำรงค์ เขียวสมอ เลขานุการชมรมไทยวนสระบุรี กำหนดจัดงานวันที่ 8 – 10 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่บริเวณกาดพระยาทด วัดพระยาทด ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี
เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีเก่าแก่ของพี่น้องชาวไทยวน ที่นำการถวายสักการะบรรพชนด้วยการสร้างขบวนเครื่องไทยทานอันยิ่งใหญ่ประกอบ ด้วยก๋วยสลากสูงใหญ่อลังการ นำเป็นขบวนแห่ถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดพระยาทด ทั้งนี้ในงานจัดให้มีมหรสพตามประเพณี การประกวดละอ่อนน้อยไท-ยวน นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ในชุมชนอำเภอเสาไห้ และชุมชนสระบุรี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้ซื้อหาบริโภคสินค้าของท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ที่งดงาม และการจัดการแสดงแสงเสียงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาตำนานของชาวไทยวนสระบุรี การกำเนิดเกิดก่อจนถึงการอพยพจากเมืองเชียงแสนเข้าสู่ภาคกลางโดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาวเชียงแสนโบราณมาจวบจนทุกวันนี้
ประเพณีตานก๋วยสลาก หมายถึงประเพณีถวายทานสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 เหนือ (กันยายน) ถึงแรม1 ค่ำ เดือนเกี่ยงดับ (พฤศจิกายน) เมื่อทาง วัด และชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลากก่อนวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะจัดทําพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้าน จะจัดเครื่องไทยทานลงใน “ก๋วย” เป็นตระกร้า หรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า “ก๋วยสลาก”
ประเพณีทำบุญสลากภัต บางพื้นที่เรียกว่า “ทานก๋วย” “ตานก๋วยสลาก” ไทยวนสระบุรีเรียกว่า “บุญกินข้าวสลาก” ซึ่งนิยมทำตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชนหรือพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ได้เจาะจงช่วงเวลา ในอดีตมักทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรออก หรือช่วงออกพรรษา เป็นต้น โดยทางเจ้าภาพจะตระเตรียมต้นสลากภัต ซึ่งก็จะเป็นกระจาดไม้ไผ่ขนาดใหญ่ มีคานสำหรับช่วยกันหามไปยังวัด กลางกระจาดปักไม้ไผ่สูง ตกแต่งเป็นช่อฉัตรหลายชั้นอย่างสวยงาม ในอดีตจะมีการประกวดกันด้วยว่าหมู่บ้านใดจะทำต้นสลากภัตได้งดงามกว่ากัน ภายในกระจาดบรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค อาหาร เสื้อผ้า ผลไม้ ตามแต่ที่จะนำมาทำบุญโดยการถวายตานก๋วยสลากนี้มีจุดมุ่งหมาย 2 อย่างด้วยกัน คือ อย่างหนึ่งเป็นการอุทิศให้เทพยดาและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และอีกอย่างหนึ่งเป็นการอุทิศไว้ให้ตนเองเมื่อล่วงลับในภายหน้า การถวายก๋วยสลากถือกันว่าจะได้อนิสงส์แรง เพราะเป็นการทําบุญแบบสังฆทาน ผู้ถวายไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง
/ดำรงค์ ชื่นจินดา รายงาน