กาฬสินธุ์-อากาศแปรปรวนประมงลุยฟาร์มกุ้งแนะวิธีเลี้ยงป้องกันน็อคตาย
สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์แปรปรวน กลางวันร้อนจัดสลับกับมีฝนตกลงมา ขณะที่เวลากลางคืนอากาศปิด เกิดความอบอ้าว ส่งผลกระทบกับกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเทศกาลสงกรานต์ ที่ปรับสภาพไม่ทันและเสี่ยงกับการน็อคตาย ขณะที่ประมงจังหวัดยกทีมนักวิชาการลงพื้นที่ ให้คำแนะนำป้องกันก่อนเกิดการน็อคตาย อดได้ขายช่วงเทศกาลสงกรานต์
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในพื้นที่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนักวิชาการประมง สำนักงานประมง จ.กาฬสินธุ์ และนักวิชาการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ด้านการบริหารจัดการในฟาร์ม เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหาย ที่อาจจะเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนสลับฝนตกมีความเสี่ยงเกิดการน็อคตายไม่สามารถนำผลผลิตออกขายได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายคำพอง ภูนาสอน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เลี้ยงกุ้งก้ามกรามมาประมาณ 30 ปี พื้นที่เลี้ยง 14 บ่อ ช่วงหน้าร้อนเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คือทั้งร้อนและมีฝนตกลงมา มีพายุฤดูร้อน ลูกเห็บตก เกิดปัญหากุ้งน็อคตายบ่อยครั้ง เพราะกุ้งปรับสภาพไม่ทัน สร้างความเสียหายอย่างมาก สำหรับปีนี้เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เกิดการน็อคตายไปประมาณ 30 กก. จำเป็นต้องขายเลหลัง กก.ละ 100 บาท ต่ำกว่าราคาขายจริง ขณะที่ราคาขายกุ้งสดที่ปากบ่อ กก.ละ 250 บาท นอกจากนี้ในช่วงเดียวกันยังพบว่ามีกุ้งของเพื่อนเกษตรกรอีกหลายราย ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน
ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดจากสภาพอากาศ ถึงแม้จะพยายามป้องกันและเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ก็ยังเกิดความเสียหายจนได้ ทั้งนี้ เนื่องจากกุ้งในฟาร์มหนาแน่นและเริ่มโต หวังจะจับขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้
ด้านนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้จะเห็นว่าสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนบ่อย กลางวันร้อนจัดสลับกับมีฝนตกลงมา ขณะที่เวลากลางคืนอากาศปิด เกิดความอบอ้าว ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเฉลี่ยปีละพันล้านบาท
ที่ปัจจุบันกำลังจะออกสู่ตลาดในเทศกาลสงกรานต์ ที่ปรับสภาพไม่ทันและเสี่ยงกับการน็อคตาย ได้ จึงได้นำทีมนักวิชาการลงพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการ เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นระยะป้องกันน้ำเสีย ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากพบว่าอากาศเริ่มปิดให้ใช้เครื่องตีน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ในฤดูแล้งที่อากาศร้อน และเกิดแปรปรวนบ่อย ควรลดปริมาณการเลี้ยงให้น้อยลง หากกุ้งตัวโตให้ทยอยจับจำหน่าย เพื่อลดความหนาแน่น ซึ่งจะสามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีกุ้งน็อคตายหรือได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่เกษตรกรสามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย จึงจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ ดังนั้น เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหาย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องบริหารจัดการในฟาร์ม โดยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหาย และจะได้มีกุ้งขาย สร้างรายได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้