กาฬสินธุ์ พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้จน
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ตรวจติดตามความก้าวหน้าและปัญหาการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าแปรรูปขยะเป็นพลังงาน และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้จน ตามโครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่จังหวัดกาฬสินธุ์
ที่สำนักงานเทศบาลตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะ ตรวจติดตามความก้าวหน้าและปัญหาการดำเนินงานก่อสร้างระบบจัดการขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลกมลาไสย โดยมีนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) กาฬสินธุ์, พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ รักษาราชการแทนท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์, นางสาววิจิตรา ภูโคก นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย และนายสักรินทร์ ภูงามเงิน ปลัดเทศบาลกมลาไสย ต้อนรับและรายงาน
จากนั้น นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ตรวจติดตามความสำเร็จโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้จน ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาสินธุ์ บ้านหัวแฮด ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์ ประธานศูนย์ฯต้อนรับ และจุดสุดท้ายเดินทางไปที่แปลงเกษตรผสมผสานบ้านหนองกุง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
นางสาววิจิตรา ภูโคก นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย กล่าวว่าตามที่รัฐบาลประกาศให้มีการกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติเนื่องจากปัญหาขยะส่งผลกระทบกับประชาชนจากปริมาณขยะมีเพิ่มขึ้นทุกวัน เทศบาลตำบลกมลาไสยตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจำกัดขยะไม่ถูกต้อง จึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่งใน จ.กาฬสินธุ์ ลงนามความร่วมมือ สร้างระบบกำจัดขยะอย่างยั่งยืน กำหนดสร้างโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่เทศบาลตำบลกมลาไสย ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับหลายภาคส่วน เช่น มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดทำข้อกำหนดขอบเขตงานหรือ TOR เพื่อให้มีการประมูลหาเอกชนมาดำเนินการ เนื่องจากโครงการมีการลงทุนสูงมาก โดยให้แนวทางในการจัดทำ TOR ว่า ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนและประชาชนเป็นหลัก และต้องแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ด้านนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน่วยงานในพื้นที่คือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ซึ่งจะทำหน้าที่ให้การส่งเสริม ผลักดันเกษตรกรในด้านการประกอบอาชีพ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำลังทำแผนที่สำรวจว่ามีความต้องการแหล่งน้ำอย่างไร หรือต้องการพันธุ์ไม้ในการเพาะปลูกอย่างไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและตัวเกษตรกรเอง ว่ามีความสนใจ และความพร้อมแค่ไหน ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยินดีสนับสนุนเต็มที่ เพื่อที่จะที่เดินหน้าแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ที่สำคัญเกษตรกรมีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมฤดูแล้งพื้นที่ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาสินธุ์ขาดแคลนน้ำ ทสจ.กาฬสินธุ์จึงได้เข้ามาสนับสนุนบ่อบาดาล โดยเป็นแหล่งน้ำใต้ดินพลังงานแสงอาทิตย์ ตามโครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง และโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรรายอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในศูนย์กสิกรรมแห่งนี้คือต้นไม้ ธรรมชาติ ความชุ่มชื้นกลับคืนมา ประโยชน์ตามมาอีกมากมาย เช่น เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งอาหาร ปลูกผักขายรายวันวัน รายเดือน รายปี มีผลไม้ตามฤดูกาล เกษตรกรมีรายได้ตลอดปี ถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำ ที่เกิดจากโครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้งดังกล่าว