สำนักงานตำรวจแห่งชาติลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ และประชุมเสวนาว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ และประชุมเสวนาว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ
วันจันทร์ที่ 4 เม.ย.65 เวลา 14.00 น. ณ ห้องศรียานนท์ โซนซี ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ โดยมีนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการเคหะแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน และเวลา 14.30 น. ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองจเรตำรวจแห่งชาติ , นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมคณะ , ผู้แทนอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , ผู้แทนปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย , ผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , ผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข , ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา , พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ร่วมประชุมเสวนาว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ
ซึ่งโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ตามมาตรการที่ 2 คือมาตรการการป้องกันยาเสพติด แผนงานที่ 9 กล่าวคือ
1.ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน เสริมสร้างให้หมู่บ้าน/ชุมชน เกิดความเข้มแข็ง เข้าใจและรับรู้ ถึงปัญหาและพิษภัยที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดที่มีผลกระทบต่อตนเองและสังคม โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ที่สามารถดูแลผู้ใช้ยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ในหมู่บ้าน/ชุมชน
3. ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดกระบวนการบริหารจัดการและรูปแบบการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็ง การบำบัดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดชุมชนยั่งยืนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติและเป็นไปตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ตามมาตรการที่ 4 คือมาตรการการบำบัดรักษายาเสพติด แผนงานที่ 11 กล่าวคือ
1.ชักจูง จูงใจ นำผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด โดยความสมัครใจเป็นหลัก
2.ดำเนินการตรวจ ทดสอบ หาสารเสพติดในบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องสงสัยเพื่อสอบถาม ความสมัครใจและเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยส่งต่อให้กับศูนย์คัดกรองหรือสถานพยาบาลยาเสพติด
3.นำผู้เสพที่ไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยสมัครใจและอยู่ในเงื่อนไขที่จะอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการและดำเนินการตามคำสั่งศาลโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้ผู้เสพเลิกยาเสพติด
โดยมีการคัดเลือกชุมชนการเคหะแห่งชาติเข้าร่วมการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนฯ ทั่วประเทศ จำนวน 20 ชุมชน มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน (เม.ย. – มิ.ย.65) ใช้การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เฝ้าระวังและสำรวจ (Re X-ray) ค้นหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม นำไปบำบัดรักษาฯ ตามกระบวนการของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล เช่น การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx) ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เพื่อให้โอกาสผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้รับการยอมรับจากชุมชนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุขและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดซ้ำอีก