กระบี่-กรมทรัพยากรน้ำ เดินหน้าฟื้นฟู แหล่งน้ำ คลองบางเท่าแม่ คลองปากลาว ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา
กระบี่-กรมทรัพยากรน้ำ เดินหน้าฟื้นฟู แหล่งน้ำ คลองบางเท่าแม่ คลองปากลาว ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา
วันที่ 8 เมษายน 2565 นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อม ดร.ประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ เข้าร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบ โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและระบบกระจายน้ำ จากคลองบางเท่าแม่ และคลองลาว ในพื้นที่ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ โดยมี นายวินัย ดินแดง นายอำเภอปลายพระยา นายสาคร เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ นายสมคิด คงยศ นายก อบต.เขาต่อ และชาวบ้านในพื้นที่ เข้าร่วมและให้ข้อมูล จัดขึ้น ณ ศาลาอเนกประสงค์ อบต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่
นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า “ประชาชนในพื้นที่อ.ปลายพระยา และ ต.คลองชะอุ่น จ.สุราษฏร์ธานี มีพื้นที่ติดกัน ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่มีสภาพตื้นเขิน ขาดการอนุรักษ์ฟื้นฟูมานาน รวมถึงขาดแคลนแหล่งกักเก็บน้ำที่มีศักยภาพ จึงเกิดโครงการนำร่อง งานอนุรักษ์ ฟื้นฟู คลองบางเท่าแม่ และคลองลาว ให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาต่อ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ และตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ต่อไป”
ด้าน ดร.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการนี้ เป็น“โครงการนำร่อง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยแนวคิดของโครงการ คือ การพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร การลดรายจ่ายโดยส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงแทนการใช้ไฟฟ้า การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือพืชมูลค่าสูงที่เหมาะสมกับสภาพดิน รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงน้ำตกบางเท่าแม่ เพื่อส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดกระบี่
โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม มีความโดดเด่น และเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญที่สามารถดึงความสนใจนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดกระบี่ให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยจะใช้เวลาในการศึกษาฯโครงการ ประมาณ 9 เดือน ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการหลังพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้ประชาชนในพื้นที่ถึง 5.7 ล้านลูกบาศก์เมตรและเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ต่อเก่าต่อและใกล้เคียงจากการท่องเที่ยวได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่นายสาคร กล่าวว่า หากโครงการนี้ดำเนินการเสร็จสิ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ จะไม่ใช่เฉพาะชาวกระบี่ แต่จะรวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี บางส่วนด้วย ซึ่งนอกจากประชาชนจะมีน้ำใช้อย่างยั่งยืนแล้ว ต่อไปสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่และแหล่งเกษตรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่…
กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน