23/11/2024

เริ่มแล้ว! สมัชชาฯ เฉพาะประเด็น‘ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉ.3’แสวงหาฉันทมติสร้างเข็มทิศสุขภาพไทย

สช.พร้อมภาคีเครือข่ายร่วมเปิดฉากเวที “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” ให้ความเห็น-ข้อเสนอต่อเนื้อหา
“ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” วางเข็มทิศกำหนดอนาคตนโยบาย-ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของ
ประเทศ พร้อมสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อน มุ่งเป้าสู่การสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม-ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในระยะ 5 ปี

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วย
ภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3
เพื่อรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ทั้งรูปแบบ on-site และ online
โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานกรรมการสุขภาพ
แห่งชาติ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด ณ อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์

ดร.สาธิต เปิดเผยว่า สุขภาพนั้นเป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นชัดเจนแล้วว่าเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่เพียงเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ทุกคนใน
สังคมล้วนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการดูแลซึ่งกันและกัน
เช่นเดียวกับเนื้อหาตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่านอกจากสุขภาพกายแล้ว ยังต้องมอง
รวมไปถึงสุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพของสังคมด้วย


ทั้งนี้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ยังได้กำหนดให้มีการจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อ
ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยเมื่อ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
ตามอำนาจหน้าที่ของตน พร้อมกำหนดให้ต้องมีการทบทวนอย่างน้อยทุก 5 ปี ซึ่งธรรมนูญฯ ฉบับที่ใช้อยู่ใน
ปัจจุบันนี้เป็นฉบับที่ 2 ที่ได้มีการประกาศใช้เมื่อปี 2559 มาถึงขณะนี้ที่กำลังมีการทบทวนและจัดทำธรรมนูญฯ
ฉบับที่ 3

“ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ เปรียบเสมือนเป็นภาพอนาคตของระบบสุขภาพไทย ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้
อ้างอิงในการทำงานได้โดยฉบับที่ 3 นี้ได้ปรับให้มีความสอดคล้องมากขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งเทคโนโลยี โรคระบาดใหญ่ การก้าวสู่สังคมสูงวัย จึงเห็นได้ว่าสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่กว้างมาก และไม่ได้เป็นแค่
เรื่องของ สธ.เท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงาน องค์กร กลไกต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและ
พื้นที่ รวมถึงคนในชุมชน ที่ล้วนมีบทบาทในการร่วมกำหนดสุขภาพของเราและของประเทศ ผ่านการสร้าง
ธรรมนูญฯ ในวันนี้ ที่จะถูกนำไปขับเคลื่อนได้จริงต่อไป” ดร.สาธิต กล่าว

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวว่า
ในกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ได้ยึดหลักความสอดคล้องกับนโยบาย การทำงานวิชาการและมีหลักฐาน
เชิงประจักษ์ความเป็นเจ้าของ การมีส่วนร่วม และการรับรู้เรียนรู้ของสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งในขั้นตอนก่อนการยก
ร่างนั้น ได้มีการรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีหลากหลายภาคส่วน โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายของ
ธรรมนูญฯ ในระยะ 5 ปีไว้ว่า “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

สำหรับการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้รับฟัง
ความเห็นและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญของร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในการ
ขับเคลื่อนธรรมนูญระบบสุขภาพฯ โดยความเห็นของทุกภาคส่วนในวันนี้ ทางคณะกรรมการจัดทำฯ จะรับฟังไว้
ทั้งหมดและนำไปปรับแก้ไขร่างธรรมนูญฯ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) พิจารณาเห็นชอบ
ก่อนเสนอต่อ ครม. รัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

“บทเรียนของโควิด-19 ทำให้พวกเราเห็นชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่จริง และหากไม่จัดการแล้วก็
จะยิ่งมีช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของทุกคนและของสังคมโลก
ด้วย หรือที่เราเรียกว่า one world one destiny มีสุขก็สุขด้วยกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน ดังนั้นธรรมนูญฯ ฉบับนี้
จึงมีแนวคิดสำคัญที่การมองระบบสุขภาพแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพคน
และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะระบบสุขภาพที่ดีและเป็นธรรม จะนำมาซึ่งความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ
และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด SDGs นั่นเอง” ดร.สุวิทย์กล่าว


ขณะที่ นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า การสื่อสารทางสังคม เป็นประเด็น
หนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการจัดทำธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ทางกรมประชาสัมพันธ์จึงยินดีรับบทบาทในการ
สร้างความเข้าใจ และการสื่อสารสาระสำคัญของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ให้กับภาคีในทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาคของ
ประเทศไทย ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำธรรมนูญฯ ไปขับเคลื่อนร่วมกันได้ต่อไป

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากการรับฟัง
ความเห็น สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมแล้ว สมัชชาสุขภาพฯ ในครั้งนี้ยังเป็นเวทีของการสร้างพันธสัญญาใน
การขับเคลื่อนร่วมกัน ของแต่ละหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่ในระดับชุมชน บุคคล ที่สามารถนำเนื้อหาของ
ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไปปรับใช้ได้ตามบทบาทและหน้าที่ของตน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของระบบสุขภาพที่เป็นธรรม
โดยหลังจากเวทีในวันนี้ ทาง สช. ยังจะมีการเดินหน้าทำความเข้าใจเพื่อการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ทั้ง 13 เขต
สุขภาพ ผ่านกลไกของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ควบคู่กันไปด้วย

ข่าวที่น่าติดตาม