เกษตรฯทำไวทำจริงตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นแล้ว 2,600 องค์กร ใน 50 จังหวัด
เกษตรฯทำไวทำจริงตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นแล้ว 2,600 องค์กร ใน 50 จังหวัด พร้อมพัฒนาหมู่บ้านประมงท่องเที่ยวฟิชเชอร์แมนวิลเลจรีสอร์ต 53โครงการ ตั้งเป้าอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยวันนี้(1พ.ค)ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนและเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงจึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงระหว่างปี2563-2565โดยจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นแล้ว จำนวน 2,600 องค์กร มีการบริหารจัดการร่วมกัน ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชุมชน การส่งเสริมการแปรรูปสัตว์น้ำ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าประมงและส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า รวมถึงพัฒนาต่อยอดกิจกรรมจากอาชีพการประมงทำให้เกิดมั่นคงในการประกอบอาชีพประมง ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้
โดยในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมง ปีงบ 2565 (องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น) เพื่อสร้างรายได้ความมั่นคงในการประกอบอาชีพการทำประมง ให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่ 50 จังหวัด (พื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล และในพื้นที่ 28 จังหวัดแหล่งน้ำจืด) รวม 200 ชุมชน ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมงตามเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรครบเรียบร้อยแล้ว เป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ด้านชายฝั่ง 81 องค์กร ด้านประมงน้ำจืด 83 องค์กรและด้านแปรรูป 36 องค์กรๆละ 100,000 บาท เพื่อให้ชุมชนนำไปดำเนินการพัฒนาอาชีพด้านประมงตามความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน กิจกรรมประกอบด้วย 1) กิจกรรมพัฒนาอาชีพประมง อาทิ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่เหมาะสมและถูกกฎหมาย การสนับสนุนอุปกรณ์ซ่อมแซมเครื่องมือทำการประมงและเรือประมง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การผลิตอาหารสัตว์น้ำเพื่อจำหน่าย การเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อจำหน่ายและแปรรูป 2) กิจกรรมเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ อาทิ การพัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ การสร้างแปล่งอาการสัตว์น้ำธรรมชาติ การจัดตั้งและพัฒนาธนาคารสัตว์น้ำ (ธนาคารปูม้า) การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การจัดตั้งโรงเพาะฟักพันธุ์สัตว์น้ำเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) จัดสร้างกระชังอนุบาลสัตว์น้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
3) เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ อาทิ การพัฒนารูปแบบการแปรรูปสัตว์น้ำตามมาตรฐานและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การส่งเสริมการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า 4) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะการทำการประมง อาทิ การอบรมให้ความรู้การทำการประมงถูกกฎหมายและศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากพื้นที่ต้นแบบ และ 5) กิจกรรมอื่นๆ เช่น ซ่อมแซมอาคารที่ทำการประมง ปรับปรุงแพชุมชน เป็นต้น ซึ่งเมื่อนับรวมการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 – ปี 2565 ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านประมงให้กับชุมชนประมงท้องถิ่น รวม 594 ชุมชน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 จากองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นทั้งหมด เป็นเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 59,400,000 บาท ซึ่งผลจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพด้านประมงและส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยการบริหารจัดการร่วมกันของชุมชน เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังดำเนินการ พบว่า ชาวประมงมีความพึงพอใจกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 ชาวประมงท้องถิ่นสามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.71 และปี 2564 สามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.13 และจากการสนับสนุนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ทำให้ต้นทุนในการประกอบอาชีพลดลง ศักยภาพในการทำประมงเพิ่มขึ้น และสามารถต่อยอดกิจกรรมในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมงได้ ส่งผลให้องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เกิดความเข้มแข็ง และมีรายได้จากการประกอบอาชีพการทำประมงได้มั่นคงยิ่งขึ้น
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม คณะกรรมการฯ ยังได้รับทราบรายงานอื่นๆ ดังนี้
1) ความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน6คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ และประมงเพาะเลี้ยงเช่น แนวทางช่วยเหลือโดยการอุดหนุนน้ำมันให้กับประมง ,แนวทางการจัดสรรวันทำการประมง ,การเตรียมความพร้อมระบบการขนส่งทางรถไฟของสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น
2.การฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ได้ผลผลิต 4 แสนตัน ภายในปี 2566 ,การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตเพื่อส่งออก
โดยประธานการประชุมฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคมผู้เพาะเลี้ยง อุตสาหกรรมประมง และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อประชุมหารือในแนวทางการจัดระบบสินเชื่อและแหล่งทุน เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ได้ผลผลิต 4 แสนตัน ภายในปี 2566
3)ความก้าวหน้าโครงการฟิชเชอร์แมนวิลเลจรีสอร์ต ( Fisherman’s Village Resort )มีการส่งเสริมชุมชนประมงชายฝั่งที่มีศักยภาพ 22 จังหวัด สามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวได้ 53 แห่ง เป็นการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนประมงด้วย โดยให้นำแนวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(wellness tourism)มาประยุกต์ใช้ และให้ส่งเสริมการตลาดแบบออนไลน์(Online Market)เพื่อช่วยสนับสนุนการขายและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านประมงมากขึ้น
4)ความก้าวหน้าของคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ในการขยายช่องทางการกระจายสินค้าประมงผ่านศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ และการเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ
5) ความก้าวหน้าโครงการนำเรือออกนอกระบบ
6) การสาธิตเรือฝึกปลาลัง ณ ท่าเทียบเรือศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Fisheries Development Center : SEAFDEC)
7)ความก้าวหน้าการดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 65 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบการประชุม ZOOM Cloud Meeting
มีคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม อาทิ นายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายพงศ์เทพ เพชรโสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย นายอำนวย คงพรหม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง นายอานันต์ อัลมาตร์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และนายพัฒนพงศ์ ชูแสง ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง เป็นเลขานุการฯ การประชุม เป็นต้น.