22/11/2024

(สุรินทร์)“ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ร่วมสืบสานประเพณีบวชนาคช้าง ประจำปี 2565 จังหวัดสุรินทร์”

(สุรินทร์)“ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ร่วมสืบสานประเพณีบวชนาคช้าง ประจำปี 2565 จังหวัดสุรินทร์”

 


วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 น.พลตรี สาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ร่วมงานประเพณีบวชนาคช้าง ประจำปี 2565 จังหวัดสุรินทร์ ณ วัดแจ้งสว่าง ศูนย์คชศึกษา และวังทะลุ ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นประธานในพิธี “ประเพณีบวชนาคช้าง” โดย จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ จัดให้มีงานประเพณีบวชนาคช้าง และจัดขบวนแห่นาคช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งใช้ช้างร่วมในขบวนกว่า 80 เชือก โดยจัดขบวนแห่นาคช้างจากวัดแจ้งสว่างหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ไปยังบริเวณวังทะลุ ริมแม่น้ำมูล

เพื่อทำพิธีเซ่นศาลปู่ตาและขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ พร้อมประกอบพิธีอุปสมบทบริเวณ “ดอนบวช” ซึ่งเป็นเนินดินกลางแม่น้ำที่เกิดจากการที่น้ำจากลำน้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ทำให้เกิดวังน้ำวนและเนินดินกลางแม่น้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า “สิมน้ำ” และเรียกติดปากว่า “ดอนบวช” จนกระทั่งปัจจุบัน “ประเพณีบวชนาคแห่ช้าง” เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวสุรินทร์ทั้งเขมร ลาว กวย ที่นับถือพุทธศาสนาถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา เมื่อลูกชายอายุ ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก่อนที่จะมีเหย้ามีเรือน พ่อแม่ต้องจัดการบวชให้ลูกชายเพื่อศึกษาธรรมวินัยเสียก่อน การบวชของหนุ่มชาวกวย ถือเป็นงานยิ่งใหญ่ของครอบครัวและชุมชน เพราะเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี

เนื่องจากมีความเชื่อว่าวันเพ็ญเดือนหก เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ผู้ได้มาบูชาด้วยการปฏิบัติตาม ถือว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า ชายชาวกวยที่อายุครบบวช จะนัดกันไปบวชที่ วัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ในเวลาเดียวกัน และก่อนวันบวชหนึ่งวัน นาคของแต่ละหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่ที่มีช้างร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่าการบวชนี้ถ้าจะให้ได้ชื่อเสียงหรือได้บุญมากจะต้องนั่งช้างแล้วแห่ไปเป็นระยะทางไกล ๆ และมีผู้คนร่วมขบวนแห่นาคเป็นจำนวนมาก แห่มารวมกันที่บริเวณวังทะลุ ริมแม่น้ำมูล เพื่อทำพิธีเซ่นศาลปู่ตาและขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ พร้อมประกอบพิธีอุปสมบทบริเวณ “ดอนบวช”

ทั้งนี้จังหวัดสุรินทร์เห็นว่า ประเพณีดังกล่าวสมควรได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตัว สามารถสื่อให้เห็นว่าเป็นถิ่นที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในโลก จึงได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอท่าตูม สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานประเพณีบวชนาคช้างขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจกรรมก่อให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจรวมทั้งสร้างแรงกระตุ้นให้ชุมชนช่วยกันรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ปุรุศักดิ์ แสนกล้า ข่าว/ภาพ

 

ข่าวที่น่าติดตาม