เชียงใหม่-หอการค้าเชียงใหม่ แถลงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2564 และไตรมาส 1 ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
เชียงใหม่-หอการค้าเชียงใหม่ แถลงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2564 และไตรมาส 1 ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวกันชกา สุวณิชย์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายสมโภช ลิ้มเล็งเลิศ กรรมการเลขาธิการ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายอาคม สุวรรณกันธา กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายปรกฤษฎิ์ สายหัสดี กรรมการรองเลขาธิการ และประธาน YEC หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วม แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปี 2564 และไตรมาส 1 ปี 2565
นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปี 2564 เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่กระเตื้องขึ้นจากปีก่อน โดยปรับตัวดีขึ้นเป็นช่วง ๆ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ช่วงไตรมาสที่ 4 ปรับตัวดีขึ้นมากหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯ และเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว ทำให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีตาม การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะด้านก่อสร้างมีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐทั้งการลงทุนและประจำขยายตัว ผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ราคาส่วนใหญ่ลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้น เงินให้สินเชื่อกระเตื้องขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ๆ
ภาคการท่องเที่ยว ปี 2564 กระเตื้องขึ้นจากปี 2563 แต่ระหว่างปีมีความแตกต่างกันมาก โดยไตรมาสที่ 3 ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดงดเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศตั้งแต่ 21 กรกฎาคม ถึง 31 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยลดการเดินทาง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวสูง ส่วนไตรมาสที่ 4 กระเตื้องขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด การเร่งฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวของจังหวัด นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความเชื่อมั่นได้เดินทางเข้ามามากขึ้นทั้งทางอากาศและทางบก อัตราการเข้าพักสูงขึ้น
การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายกระเตื้องขึ้นตามภาวะการท่องเที่ยวและมาตรภาครัฐในการเพิ่มกำลังซื้อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้น การซื้อและขนส่งสินค้ากระเตื้องขึ้น ประชาชนออกไปจับจ่ายในช่องทางปกติมากขึ้น การซื้อสินค้าออนไลน์ชะลอลงช่วงปลายปี ส่งผลดีต่อการจ้างงานในจังหวัด การใช้จ่ายสินค้าคงทน เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ หดตัวมากช่วงปลายปี 2564 จากกำลังซื้อที่อ่อนแอ ประกอบกับการผลิตรถยนต์ประสบปัญหาขาดชิ้นส่วน การบริโภคสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวตามการทำงานและเรียนที่บ้าน
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนก่อสร้าง เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอแผนการลงทุน และสถาบันการเงินระมัดระวังการพิจารณาให้สินเชื่อบ้านอยู่อาศัย ส่งผลให้มีสต๊อกคงค้างค่อนข้างมาก บ้านแนวราบยังทรงตัวได้ดี ในขณะที่บ้านแนวสูงความความต้องการทรงตัว ส่วนการลงทุนเพื่อการผลิตส่วนใหญ่ชะลอแผนการลงทุนออกไป อย่างไรก็ดีช่วงไตรมาสที่ 4 การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวน้อยลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมและภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณฟื้นตัว พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลง แต่เป็นปัญหาการขาดแคลนรถยนต์ส่งมอบ
การใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อการอุปโภคบริโภคและลงทุนของภาครัฐบาลผ่านสำนักงานคลังจังหวัดเชียงใหม่ ปีปฏิทิน 2564 เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ปกติ โดยงบรายจ่ายรวมและงบลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.8 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ รายจ่ายประจำขยายตัว ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวในส่วนของสถาบันการศึกษา โครงการชลประทานและสาธารณสุข เช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุดมธาราของจังหวัด เป็นต้น
ภาคเกษตร ผลผลิตเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ลำไย ส้ม กระเทียม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี ผลผลิตสุกรลดลงมาก เนื่องจากต้นทุนการอาหารสัตว์สูงขึ้น การคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัยการเลี้ยง และผู้ผลิตหลายรายประสบปัญหาโรคระบาดสุกร สำหรับราคาที่เกษตรกรขายได้ส่วนใหญ่ลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยลดลง อย่างไรก้ดีสำหรับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นเพื่อผลิตอาหารสัตว์
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เครื่องชี้ภาษีมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมช่วงครึ่งหลังของปีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 ผลผลิตอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ สำหรับการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลงช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากสถานประกอบการบางแห่งปิดดำเนินการหรือปิดชั่วคราวจากโควิด มีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อก่อสร้าง
ภาคการเงิน ณ สิ้น ธ.ค. 2564 เงินฝากสาขาธนาคารพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการเก็บออมของผู้ฝากที่ระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนเงินให้สินเชื่อเร่งตัวขึ้นร้อยละ 2.2 จากสิ้นปีก่อน สินเชื่อที่เพิ่มเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อบริการ สินเชื่อค้าส่งค้าปลีกและก่อสร้าง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาอาหารสด อาหารสำเร็จรูป สำหรับตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ๆ จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานคืนถิ่นจากวิกฤตโควิด ซึ่งควรสนับสนุนยกระดับความรู้และเทคโนโลยี
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปรับตัวดีขึ้นจากท่องเที่ยวฟื้นตัวดีเทียบกับไตรมาสก่อน จากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่งผลให้การบริโภคปรับดีขึ้น ช่วงปลายไตรมาสชะลอลงบ้างจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron สำหรับการลงทุนภาคเอกชนพบว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ด้านผลผลิตเกษตรลดลง ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เงินฝากเร่งตัวขึ้น ส่วนเงินให้สินเชื่อชะลอลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากร้อยละ 3.5 จากราคาพลังงานและอาหารสด ส่วนแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตัวโมเมนตัม กำลังสวิงขึ้นในช่วงของไตรมาสที่ 2 จากช่วงที่ปลายปี 2564 ได้ในเรื่องของการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย
พัฒนชัย/เชียงใหม่