หวั่นกระทบเสรีภาพประชาชน “ชญาภา” ชี้รัฐบาล “ประยุทธ์” กลัวการตรวจสอบ เร่งออก กม.ควบคุมการรวมกลุ่ม อาจทำไทยเข้าข่ายขัดพันธกรณีสหประชาชาติ
หวั่นกระทบเสรีภาพประชาชน “ชญาภา” ชี้รัฐบาล “ประยุทธ์” กลัวการตรวจสอบ เร่งออก กม.ควบคุมการรวมกลุ่ม อาจทำไทยเข้าข่ายขัดพันธกรณีสหประชาชาติ
นางสาวชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….’ หรือ พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม และพยายามผลักดันต่อโดยให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปว่า มีความกังวลเป็นอย่างมากว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีลักษณะลดทอนความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน มุ่งเน้นจำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้อำนาจกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ซึ่งมีลักษณะผูกขาดอำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งการจัดหาและจัดเก็บเงินทุนเอง บังคับให้เปิดเผยแหล่งรายได้ ผู้รับผิดชอบ ซึ่งล้วนมีนัยยะสำคัญที่เอื้อให้รัฐบาลถูกตรวจสอบน้อยลง แต่เพิ่มความมั่นคงของรัฐที่จะสามารถกีดกันและจำกัดคนเห็นต่างมากกว่าการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นลักษณะกฎหมายที่คลุมเครือและนำไปสู่การตีความอย่างกว้างขวาง หากประชาชนต้องการเรียกร้องหลังได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ อาจถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ ลักษณะนี้ประเทศไทยอาจเข้าข่ายขัดกับพันธกรณีสหประชาชาติ ที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องการฟื้นฟูประเทศ มีความจำเป็นที่ต้องสร้างความสัมพันธ์และแสวงหาเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน
ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นผ่านการยอมรับการตรวจสอบจากหลากหลายองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมของประเทศ ต้องสร้างหลักประกันให้กับคนในสังคมว่าสามารถมีเสรีภาพในการแสดงออก ส่งเสริมการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามมติสหประชาชาติในฐานะสมาชิก การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้อารยประเทศเกิดความเชื่อมั่นและช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้
“การพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นฐานความคิดในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม พลเอกประยุทธ์เริ่มเข้าสู่อำนาจด้วยการปล้นอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทนกับการถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ จึงใช้วิธีออกกฎหมายควบคุมปิดปากประชาชนแทน ซึ่งมีเจตนาเพื่อรักษาอำนาจและเตรียมการขยายขอบเขตอำนาจตนเองไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะและรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยตามที่กล่าวอ้าง” นางสาวชญาภากล่าว