ศ.สุชาติ! ญี่ปุ่นยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ปล่อยค่าเยนอ่อน ไม่กังวลเงินเฟ้อ เพราะเศรษฐกิจยังติดลบ
ศ.สุชาติ! ญี่ปุ่นยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ปล่อยค่าเยนอ่อน ไม่กังวลเงินเฟ้อ เพราะเศรษฐกิจยังติดลบ
1.ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่น ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ปล่อยค่าเงินเยนลดลงต่อเนื่องจนถึง 135 เยนต่อเหรียญฯ ต่ำสุดในรอบ 24 ปี และยังไม่กังวลเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.5% และราคาอาหารเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเมษายน 2565 เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเติบโตติดลบ 0.1-0.2%
2.เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากในสหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรปบางประเทศ ที่สูงขึ้นเกือบ 9% นั้น เพราะเขาทำนโยบาย QE คือพิมพ์แบงค์มาใช้ จนมากเกินไป จึงทำให้เขาต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดความต้องซื้อลง (Demand side) มิฉะนั้น เงินเฟ้อในประเทศเขาอาจคุมไม่อยู่ ทำให้ชีวิตประชาชนแย่ลง เพราะข้าวของแพงขึ้น
3.แต่ประเทศที่เงินเฟ้อไม่สูง และเศรษฐกิจยังเจริญเติบโตต่ำ ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยตาม
4.กรณี รัฐบาลญี่ปุ่น ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อยังต่ำ โดยในอดีตเมื่อเงินเฟ้อต่ำเกินไป จนติบลบ ได้ทำให้ (ก) ประชาชนไม่อยากใช้จ่าย เพราะคิดว่าสินค้าจะลดราคาลงต่อเนื่อง (ข) การลงทุนก็น้อยลง เพราะผลิตขายแล้วไม่มีกำไร กำลังซื้อก็น้อย
5.ดังนั้น หากรัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น 3-4% (โดยเป้าหมายระยะยาวของแบงค์ชาติญี่ปุ่น คือ 2%) จะทำให้ความต้องการซื้อและต้องการลงทุน (Demand side) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นจะผลดีต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน การจ้างงาน และรายได้ประชาชน
6.รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปล่อยให้ดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลาง (BOJ) ยังต่ำอยู่ คือติดลบ 0.1 เพื่อเพิ่ม (ก) การบริโภค (ข)การลงทุน และยังปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลง เพื่อเพิ่ม (ค) รายได้การส่งออกในรูปเงินเยน ทั้ง 3 ประการ จะทำให้ผลผลิตและรายได้ (GDP) สูงขึ้น
7.ดังนั้น การที่โลกขึ้นดอกเบี้ย จึงไม่จำเป็นที่ประเทศอย่างเราๆ ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยตามเสมอไป เราต้องเลือกระหว่างการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กับการรักษาเสถียรภาพ หากระบบเศรษฐกิจยังเจริญเติบโตต่ำ จ้างงานน้อย รายได้ประชาชนต่ำ ก็ควรเลือกการสร้างความเจริญเติบโตก่อน ให้มีรายได้ทันเงินเฟ้อ
8.ซึ่งจะดีกว่าไปขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหวังจะลดเงินเฟ้อ แล้วเศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต รัฐบาลและประชาชน มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น และยิ่งเงินเฟ้อมาจากด้านต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น (Imported Cost Push Inflation) การขึ้นดอกเบี้ยก็อาจไม่ลดเงินเฟ้อลง แต่จะทำให้เศรษฐกิจการจ้างงานลดลง แต่ภาระหนี้ประเทศเพิ่มขึ้น..ดร.สุชาติ กล่าว