23/11/2024

สุโขทัย-ศรีสำโรง-อบต.ทับผึ้งจัดทำโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2565 (รุ่นที่ 2)

สุโขทัย-ศรีสำโรง-อบต.ทับผึ้งจัดทำโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2565 (รุ่นที่ 2)

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลทับผึ้ง ร่วมกับกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลทับผึ้ง จัดทำโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2565 (รุ่นที่ 2) โดยอาศัยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติมตามอำนาจหน้าที่มาตรา 23(6) ส่งเสริมการพัฒนา สตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16(10) การสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชราและผู้ด้อยโอกาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตนเอง การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม ซึ่งได้กำหนดจัดกิจกรรมตามแผนงานไว้เป็นจำนวน 10 ครั้ง โดยเริ่มวันนี้เป็นครั้งแรก เริ่มต้นภาคเช้าด้วยกิจกรรมการเคารพธงชาติ สวดมนต์ จากนั้นทำการประเมินสุขภาพนักเรียนผู้สูงอายุโดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ต่อด้วยกิจกรรมสันทนาการจากเจ้าหน้าที่จากโรงเรียนบ้านห้วยไคร้ โดยได้รับเกียรติจากนายวิทยา สันติกุล นายอำเภอศรีสำโรง เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลทับผึ้ง และพิธีรับขวัญผู้สูงอายุ ภาคบ่ายฟังบรรยาย “โรคเรื้อรังและพบมากในวัยผู้สูงอายุ” โดย นพ.พิสิฐ ศรีเดช แพทย์โรงพยาบาลศรีสัชนาลัย


ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 กล่าวคือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ เป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น การที่ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศต้องมีรายจ่ายด้านสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ครอบครัวต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุเอง เมื่อมีอายุยืนยาวขึ้นยิ่งต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ รวมถึงความเสี่ยงจากการ
เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ความพิการหรือทุพพลภาพ นอกจากนี้สภาพครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากที่มีคนหลายรุ่นอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่กันตามลำพัง ขาดผู้ดูแลและอาจเกิดความรู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมาย สถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยจึงน่าวิตก การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจึงควรดำเนินการควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ของรัฐเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญได้แก่ สมาชิกในครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีภารกิจโดยตรงในการดูแลผู้สูงอายุ
รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ในการเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดภูมิปัญญาหรือการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการยกระดับการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเองและชุมชน ประจักษ์ในศักยภาพและพลังของผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีและมีความสุข


โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นรูปแบบหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการศึกษา การพัฒนาทักษะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะชีวิตที่จำเป็น โดยวิทยากรจิตอาสาหรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจะได้แสดงศักยภาพ โดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ประสบการณ์ที่สั่งสมแก่บุคคลอื่น เพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คงคุณค่าคู่กับชุมชน การจัดกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุ จะกำหนดตารางกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ไว้ชัดเจน ระยะเวลาเปิดเรียนอาจเป็นตลอดปีหรือเปิดเป็นช่วงเวลาตามหลักสูตรที่จัดอบรม ส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งผู้สูงอายุจะได้รับประโยชน์จากโรงเรียนผู้สูงอายุ ในด้านสุขภาพร่างกายทำให้มีสุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉ่ง ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย ลดระยะเวลาการพึ่งพาผู้อื่น อายุยืน ในด้านจิตใจ ช่วยให้คลายเหงา จิตใจกระชุมกระชวย สดชื่น รู้สึกภาคภูมิใจและตระหนักในคุณค่าความสามารถของตนเอง มีมุมมองเชิงบวกต่อตนเอง ในด้านสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนวัยเดียวกันและคนต่างวัย ได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกของกลุ่ม ในด้านจิตปัญญา รู้เท่าทันและเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามวัย ในด้านเศรษฐกิจ เรียนรู้ทักษะทางด้านอาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเหลือตนเองต่อไป โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นพื้นที่เรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ดำรงสืบทอดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โรงเรียนผู้สูงอายุเป็น “เวที” ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมรวมทั้งอาจเป็นแรงผลักดันให้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในชุมชนต่อไป

ข่าวที่น่าติดตาม