บสย. เผยยอดอนุมัติค้ำสินเชื่อ 6 เดือน 9 หมื่นล้าน ครึ่งปีหลัง เร่งกระตุ้นยอดค้ำฯ
บสย. เผยยอดอนุมัติค้ำสินเชื่อ 6 เดือน 9 หมื่นล้าน ครึ่งปีหลัง เร่งกระตุ้นยอดค้ำฯ ดัน ศูนย์ F.A.CENTER หนุน Re-Start / Start up เพิ่มบทบาทช่วยลูกหนี้ “แก้หนี้อย่างยั่งยืน” ไฮไลท์ ม.ค.- มิ.ย. 2565 ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 68,731 ราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้าน ยอดค้ำกลุ่มเกษตรมาแรง ภาคใต้ครองแชมป์ ลูกหนี้ปลื้ม “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน ช่วยธุรกิจยืนได้
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. รอบ 6 เดือน (1 ม.ค.- 30 มิ.ย. 2565) อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รวม 92,879 ล้านบาท โดยยอดค้ำประกัน 50% มาจาก โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) วงเงิน 46,314 ล้านบาท อันดับ 2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟู สัดส่วน 39% วงเงิน 36,425 ล้านบาท และอันดับ 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Micro ต้องชนะ (Micro 4) สัดส่วน 5% วงเงิน 4,473 ล้านบาท และ โครงการอื่นๆ สัดส่วน 6% วงเงิน 5,667 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจยอดค้ำประกันสูงสุด คือ 1. ธุรกิจบริการ 28% 2. กลุ่มเกษตรกรรม 12% 3. ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้า 11% สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Benefit Multiplier) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 68,731 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 102,544 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 620,164 ตำแหน่ง และ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 383,592 ล้านบาท (Economic Benefit Multiplier เท่ากับ 4.13 เท่า)
นายสิทธิกร กล่าวว่า ผลการค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจเกษตรกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2% จาก 10% ในปี 2564 เป็น 12% ในปี 2565 คิดเป็นวงเงินค้ำ 11,001 ล้านบาท โดยภาคใต้ ครองแชมป์ยอดค้ำสูงสุด สัดส่วน 25% วงเงิน 2,774 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ผัก ผลไม้ 2.ข้าวพืชไร่ 3.ค้าสัตว์น้ำ และอื่นๆ ผ่าน สถาบันการเงินของรัฐ หรือ SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 30:70
อันดับ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัดส่วน 19% วงเงิน 2,028 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ข้าวพืชไร่ 2.ยางพารา 3.ชากาแฟ และอื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 36:64
อันดับ 3 ภาคเหนือ สัดส่วน 18 % วงเงิน 1,943 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ข้าวพืชไร่ 2.ปศุสัตว์ 3.ผักผลไม้ และ อื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 38:62
อันดับ 4 กรุงเทพและปริมณฑล สัดส่วน 15 % วงเงิน 1,639 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ผักผลไม้ 2.ข้าวพืชไร่ 3. ค้าสัตว์น้ำ และ อื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 31:69
อันดับ 5 ภาคกลาง สัดส่วน 12% วงเงิน 1,365 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ปศุสัตว์ 2.ข้าวพืชไร่ 3.ผักผลไม้ และ อื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 48:52
อันดับ 6 ภาคตะวันออก สัดส่วน 11% วงเงิน 1,251 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ผักผลไม้ 2.ปศุสัตว์ 3. ข้าวพืชไร่ และ อื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 19:81
ในรอบ 6 เดือน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) วงเงิน 150,000 ล้านบาท เป็นโครงการตามมาตรการรัฐ โดยสนับสนุนจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเงื่อนไขการค้ำประกันดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสูงสุด 3 ปี ระยะเวลาการค้ำ 10 ปี และได้รับความนิยมจากสถาบันการเงิน โดยสิ้นสุดโครงการ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
ด้านผลดำเนินงาน การให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจของ SMEs โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2565 ให้บริการรวม 9,458 ราย มีผู้เข้ารับการอบรม 6,120 ราย มีผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา 3,338 ราย และให้คำปรึกษาแล้ว จำนวน 1,940 ราย ขอรับคำปรึกษามากที่สุด ได้แก่ 1.สินเชื่อ 2.ปรับโครงสร้างหนี้ 3. การพัฒนาธุรกิจ โดยมีความต้องการสินเชื่อ 11,242 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการที่มีปัญหาหนี้ ผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ณ 30 มิถุนายน 2565 มีผู้ลงทะเบียนผ่าน ธปท. 3,748 ราย ซึ่งได้ส่งต่อให้ บสย. ให้คำปรึกษา จำนวน 645 ราย ส่วนใหญ่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจมากถึง 80%
นอกจากนี้ บสย. ยังประสบผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. ภายใต้โครงการ “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน เช่น การประนอมหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยมาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ที่ได้รับการยอมรับจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการประนอมหนี้ ว่าเป็นโครงการเชิงรุกที่ยอดเยี่ยม ที่สามารถช่วยประคองธุรกิจได้จริง ด้วยโมเดลการประนอมหนี้ที่มีความยืดหยุ่น เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ ดังนี้
มาตรการที่1 (สีม่วง) ยืดหยุ่น เพื่อให้ “ลูกหนี้” ยืนได้และก้าวต่อไป ตัดต้น 20% ดอกเบี้ย 80% ผ่อนนาน 5 ปี มาตรการที่2 (สีเหลือง) เบาใจ เบาแรง “หนี้ลดหมดแน่นอน” ชำระครั้งแรก 1% ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ผ่อนนาน 5 ปี และ มาตรการที่ 3 (สีเขียว) ชำระครั้งแรก 10% ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 7 ปี โดยทั้ง 3 มาตรการมีลูกหนี้ติดต่อเข้ารับการประนอมหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ 6,372 ราย สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ ของ บสย. แล้ว 1,019 ราย คิดเป็นสัดส่วนความสำเร็จของการช่วยเหลือ (Success Rate) 16% คิดเป็นวงเงินประนอมหนี้ 722 ล้านบาท ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ สามารถเข้าถึงลูกหนี้ได้กว่า 75% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมทั้งหมด
โครงการ “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. โดยเปิดช่องทางการส่งคำขอปรับโครงสร้างหนี้ มาที่ บสย. ได้ทุกช่องทาง ทั้ง Call Center 02-890-9999
สำหรับทิศทางการดำเนินงาน บสย. ตลอดครึ่งปีหลัง บสย. มุ่งเน้นการทำงานแบบเชิงรุก ภายใต้แนวคิด “TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs” ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม เข้าถึงสินเชื่อ เพื่อผลักดันยอดค้ำประกันสินเชื่อสู่เป้าหมาย 174,348 ล้านบาท อาทิ
– สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการ Re-Start ธุรกิจ หลังการเปิดประเทศ และ กลุ่ม Start up โดยร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร SMEs D Bank
– ยกระดับศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center พัฒนาหลักสูตรการอบรม พร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือ Start up เตรียมความพร้อมการเข้าสู่โลกธุรกิจ
– สนับสนุนนโยบายแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG BIO-Economy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ร่วมกับสถาบันการเงิน และองค์กรพันธมิตร และโครงการพลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น
– การพัฒนานวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ การส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและธุรกิจ
– สนับสนุนให้ลูกหนี้ บสย. เข้าร่วมโครงการประนอมหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้หนี้
– เดินหน้าการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Digital Transformation อยู่ระหว่างการพัฒนา Single Credit Scoring การพัฒนากระบวนการการพิจารณาสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อสู่ Digital Lending และ Digital Credit Guarantee ร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร
– ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการค้ำประกันสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง บสย. ยังอยู่ในระหว่างการนำเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 10 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ SMEs 35,000 ราย และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ 180,000 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 5 วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ SMEs 120,000 ราย และ กระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ด้วย