เพชรบูรณ์-กขป.เขต2 สานพลังเครือข่ายพื้นที่นำเสนอบุคคลต้นเรื่อง พื้นที่ต้นแบบ
เพชรบูรณ์-กขป.เขต2 สานพลังเครือข่ายพื้นที่นำเสนอบุคคลต้นเรื่อง พื้นที่ต้นแบบ
วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ห้องประชุมสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.เพชรบูรณ์ ศูนย์ประสานงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 2จัดเวทีสานพลัง อาหารปลอดภัยทุกกลุ่มวัยสุขภาพดี ไร้ภัยคุกคามสุขภาพ ประเด็นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 2 โดย ผศ.ดร.สมตระกูล ราศิริ ประธาน กขป.เขต 2 ชี้แจงวัตถุประสงค์ประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 2 ว่า ในการดำเนินการจัดเวที สานพลังในครั้งนี้เพื่อเป็นการสานพลังการขับเคลื่อนเครือข่ายในระดับพื้นที่ประเด็น ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนคณะกรรมการสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 2 คือประเด็นเรื่องของอาหารปลอดภัยบนฐานทรัพยากร ประเด็นสุขภาวะทุกช่วงวัยและประเด็นไร้ภัยคุกคามสุขภาพ
รวมทั้งเพื่อให้เครือข่ายที่เป็นบุคคลต้นเรื่อง พื้นที่ต้นแบบได้นำเสนอผลการดำเนินการและสร้างขวัญกำลังใจอีกทั้งเป็นการสรุปผลการดำเนินการในพื้นที่ให้กับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 2 ได้นำเสนอต่อการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 30 คน มีนายบัณทิต มั่นคง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดร.สมชาย เผือกตระกูลชัย ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนำเครือข่ายที่ดำเนินการประเด็นเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย ประเด็นสุขภาวะทุกช่วงวัย และ ประเด็นภัยคุกคามสุขภาพในพื้นที่่่่่่่่่่ จ.เพชรบูรณ์ ร.ต.ต.สุขสัณห์ ภิชัย รองประธาน กขป.เขต 2 ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อสารประชาสัมพันธ์นำสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จาก 5 จังหวัดได้แก่จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลกและเพชรบูรณ์และคณะทำงานเข้าร่วม
โดยในเวทีมีการนำเสนอข้อมูลการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ บุคคลต้นเรื่องและพื้นที่ต้นแบบโดย ดร.สมชาย เผือกตระกูลชัย ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัด และการนำเสนอการขับเคลื่อนประเด็น เกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย โดยผศ.จินตนา สนามชัยสกุล ข้าราชการบำนาญ ผู้ขับเคลื่อนประเด็น ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณ ปี 2565 ประเด็นเกษตรปลอดสาร โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ได้พื้นที่ต้นแบบ 3 – 4 กลุ่ม รวมทั้งมีการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วม กับภาคีเครือข่าย ในขั้นตอนการดำเนินการ มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้กระจายทั้งจังหวัด ศึกษาบริบท ปัญหา ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ข้อค้นพบจากการลงพื้นที่ ข้อมูลการบริหาร จัดการกลุ่ม /การผลิต /การตลาด จุดแข็ง จุดอ่อนปัญหาความต้องการ ประเมินความเหมาะสมในการเป็นต้นแบบ
โดยใช้แบบประเมินที่สร้างขึ้น ซึ่งประเมินโดยคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ ผลการประเมิน ได้กลุ่มต้นแบบ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวังร่อง อ.หล่มสักกลุ่มเกษตรอินทร์บ้านริมสีม่วง อ.เขาค้อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรร่วมใจนางั่ว อ.เมืองเพชรบูรณ์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพขยายพันธุ์ไม้ผลไม้ดอก อ.วิเชียรบุรี และกลุ่มดาวรุ่ง 1 แห่ง คือ กลุ่มอินทรีย์นาป่า อ.เมืองเพชรบูรณ์ส่วนปัญหาและความต้องการ คือขาดองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ ด้านการแปรรูป ขาดตลาดรองรับ ไม่มีมาตรฐาน ขายไม่ได้ราคา ซึ่่่่่่งในการขับเคลื่อนประสานงานกับหน่วยงานที่จัดอบรม ด้านเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูป จากพาณิชย์จังหวัด และ ม.ราชภัฎ แนะนำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มหนุนเสริมให้กลุ่มเปิดตลาดในชุมชน ศึกษาดูงานที่ตลาดไทย เชิญ จนท.ตลาดไทยมาให้ข้อมูลกลุ่ม ออกตลาดในงาน Road Show ่ที่พาณิชย์จังหวัดจัดขึ้น ศึกษาข้อมูลการทำ GAP กับหน่วยงานที่รับรองมาตรฐาน
ในด้านประเด็นภัยคุกคามสุขภาพ โดย ดร.ดลรวี สิมคำ หัวหน้างานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสนับสนุนเครือข่าย โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ผู้ขับเคลื่อนประเด็น กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในพื้นที่ว่า จ.เพชรบูรณ์ได้ระดมสรรพกำลัง ความรู้ความสามารถและทรัพยากรในการจัดการกับวิกฤติดังกล่าว ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทำให้สามารถ ก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติมาได้ในทุกระลอกของ การระบาด และในท้ายที่สุดการระบาดของโรคโควิด 19 ก็กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” อย่างไรก็ตาม เราต้องเร่งจัดทำแผนและมาตรการเชิงรุกให้ครอบคลุมทุกมิติตามระดับสถานการณ์ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ด้านกฎหมายและสังคม ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติด้วยการปรับการบริหารจัดการโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ คือ
การเพิ่มความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ประกอบกับความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ทั้งระดับบุคคล และองค์กรเป็นอย่างดีอันจะช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ตลอดจน ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ร่วมกับทีมสมัชชาประเด็นพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19 ได้จัดประชุมในดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) เพื่อหวังให้ประชาชนจะกลับมาดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้ภายใต้การใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ เพิ่มคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประชาชนและประเทศเดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย “ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง”
นายสมชาย นาวิชา ข้าราชการบำนาญ ผู้ขับเคลื่อนประเด็น สุขภาวะทุกช่วงวัย(ประเด็นผู้สูงอายุ) ได้กล่าวว่า ในส่วนของคณะทำงานจัดทำข้อมูลสถานการณ์ ศึกษานโยบายระดับจังหวัด จัดเวทีทำความเข้าใจแนวคิดสังคมสูงวัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด/รับฟังข้อคิดเห็น/สร้างความเห็นร่วม จัดเวทีสมัชชาเพื่อนำเสนอประเด็น/ถอดบทเรียนร่วมกัน/เพื่อพัฒนาเป็นวาระจังหวัด ประสานคัดเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า ตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนากระบวนงานทำความดีร่วม จนกระทั่งได้จดทะเบียนเป็น สมาคมโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเพชรบูรณ์ขึ้นในปี 2561 ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนางานผู้สูงอายุกันอย่างกว้างขวาง มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพสังคมสูงวัยในพื้นที่จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ซึ่งในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วางแผนแนวทางการดำเนินงานและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้รับผิดชอบดำเนินการประเด็นต่างๆ
มนสิชา คล้ายแก้ว/วรรณิกา หาญกลิ้ง