เชียงใหม่-ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2565 ปรับดีขึ้น
เชียงใหม่-ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2565 ปรับดีขึ้น
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดยนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2/2565” โดยภาพรวมเศรษฐกิจทุกภูมิภาคปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวแตกต่างกัน ภาคการเกษตรฟื้นตัวได้ดีกว่า โดยเฉพาะรายได้เกษตรในภาคใต้ ส่วนการบริโภคและการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า pre-COVID-19 อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวภาคเหนือฟื้นตัวได้ดีเนื่องจากพึ่งพิงนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก
ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2565 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้น นักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มมีความมั่นใจเดินทางเข้ามาภาคเหนือมากขึ้น สะท้อนจากการเดินทางทางอากาศ และทางรถยนต์ผ่านเส้นทางหลักที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นชาวสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางบินตรงจากต่างประเทศมายังภาคเหนือ ทำให้อัตราเข้าพักดีขึ้นต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว การใช้จ่ายในหมวดบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคปรับดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากราคาสินค้า ส่วนหมวดยานยนต์ชะลอลงเล็กน้อย หลังเร่งส่งมอบในช่วงก่อนหน้า และมีปัญหาขาดแคลนรถส่งมอบในบางรุ่น รายได้ภาคเกษตรขยายตัวมากขึ้น ตามผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น ในข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ลำไย และลิ้นจี่ เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย
ด้านราคาปรับดีขึ้นจากราคาข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปศุสัตว์ ตามวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตแม้ชะลอลงบ้าง ตามการผลิตหมวดอาหาร โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาล หลังผลผลิตเข้าโรงงานมากในไตรมาสก่อน ขณะที่ การผลิตหมวดเครื่องดื่มลดลง หลังเร่งผลิตในช่วงต้นปี ประกอบกับผลผลิตหมวดอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์หดตัว จากมาตรการ Lockdown ของจีน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนและการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการผลิต การลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการลงทุนเพื่อการก่อสร้างตามสัญญาณการขออนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัว จากรายจ่ายลงทุนโครงการก่อสร้างระบบถนน ขณะที่ รายจ่ายประจำขยายตัวชะลอลงหลังเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้น ตามจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของแรงงานนอกภาคเกษตร ประกอบกับจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมกลับสู่ระดับก่อน COVID-19
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3/2565 คาดว่าปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะประชาชนปรับตัวอยู่กับ COVID-19 ได้ดี ซึ่งจะสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับรายได้เกษตรยังขยายตัว ตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจะช่วยพยุงการบริโภค แม้มีปัจจัยกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นแม้สถานการณ์ COVID-19 จะทยอยปรับดีขึ้น แต่ ธปท. ยังคงเน้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ด้วยมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ทั้งการผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ รวมถึงมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่ยังเปราะบาง ดังนี้
(1) ผลักดันมาตรการเฉพาะจุดที่ยังมีผลอยู่ ทั้งการแก้หนี้เดิมผ่านมาตรการหลัก คือ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. ซึ่งยังมีผลใช้ได้จนถึงสิ้นปี 66 และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่มีผลถึงสิ้นเดือน เม.ย. 66 การเติมเงินใหม่อย่างมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ยังมีผลถึงสิ้นเดือน เม.ย. 66 ตลอดจนช่องทางเสริมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ เช่น คลินิกแก้หนี้ โครงการไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มาตรการส่วนใหญ่มีผลบังคับใช้ “อย่างน้อย” ถึงปี 66 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดย ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้ยืดหยุ่น ตามสถานการณ์และบริบทของลูกหนี้
(2) เพิ่มมาตรการดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเพิ่มมาตรการให้ตรงกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สำหรับกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ให้คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ถึงปี 66 และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 12 เดือนออกไปอีก 1 ปี ถึงปี 66 ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย จะปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของคลินิกแก้หนี้ โดยเพิ่มทางเลือกการผ่อนชำระเพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังชำระสามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น
พัฒนชัย/เชียงใหม่