กาฬสินธุ์ – พัฒนาที่ดินเปิดห้องเรียนกลางแจ้งสอนเด็กแก้ปัญหาดินเค็ม
สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เทศบาลตำบลหัวนาคำ และโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ จัดโครงการบริการวิชาการสู่ชุมชนการบูรณาการสหวิทยา เพื่อการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม นำนักเรียน นักศึกษา ลงพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็ม เพาะปลูกพืชไม่ได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนานวัตกรรมโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ให้ชุมชนสามารถอยู่ในพื้นที่ มีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนหลังฟื้นฟูสภาพดินเค็มให้มีคุณภาพ
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2565 ที่บริเวณแปลงนาบ้านโพนสิม ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายอรรถวุฒิ กรุงแสนเมือง ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายมหิทร ภูติโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ นางสาวอุไรวรรณ ถายา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่ร่วมกับ ผศ.ดร.วุฒิศาสตร์ โชคเกื้อ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ฯ ผู้บริหารสถานศึกษา นำนักศึกษา นักเรียน ลงพื้นที่ศึกษาสภาพปัญหาดินเค็ม โดยมีนายขุนเพชร ศรีกุตา หมอดินอาสาประจำตำบลหัวนาคำ ร่วมให้ข้อมูล
นายมหิทร ภูติโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงอยู่ และมีแนวโน้มของปัญหาที่รุนแรงขึ้น เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยตรง จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเร่งด่วน โดยการแก้ไขปัญหาดินเค็มในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินการจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายแนวทาง ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลักษณะดังกล่าวที่น่าจะประสบความสำเร็จ คือ “การปลูกพืชชนิดอื่นที่ทนเค็ม เพื่อทดแทนข้าว” ควบคู่กับ “การรักษาความชื้นไว้ในดิน” โดยพืชที่จะปลูกต้องสามารถทนแล้งและทนเค็มได้ในระดับหนึ่ง อายุสั้น ต้องการน้ำน้อย และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
นายมหิทร กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องการการสนับสนุนในหลายมิติ ทั้งทางด้านนโยบาย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมของชุมชนและสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ สู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับคณะวิทยาศาสตร์ มมส.ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน เพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ก่อเกิดความร่วมมือในการศึกษาเรียนรู้และวิจัยบริบทของชุมชน นำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการ
นายมหิทร กล่าวอีกว่า การประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ในการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน/หมู่บ้านเป็นต้นแบบในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของนิสิต อาจารย์ มมส. และบุคลากรกรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ดำเนินงานถ่ายถอดองค์ความรู้ผลการการศึกษาวิจัยข้อมูลเชิงพื้นที่และห้องปฏิบัติการ นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับชุมชน อย่างเช่นการจัดโครงการบริการวิชาการสู่ชุมชนการบูรณาการสหวิทยา เพื่อการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในครั้งนี้ เพื่อบริหารจัดการเรียนรู้ทรัพยากรชุมชนด้วยชุมชน เป็นการแก้ปัญหาชุมชนและพัฒนานวัตกรรมโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีนักเรียนชั้น ป.5 – ม.3 จากโรงเรียนดงบังวิทยา, โรงเรียนหัวนาคำจรูญศิลป์ และโรงเรียนโคกค่ายโคกใหญ่วิทยา จำนวน 100 คนร่วมโครงการ โดยให้ความรู้ชั้นดิน และให้องค์ความรู้ประกอบด้านอื่นๆเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดินเค็ม เพื่อให้มีการต่อยอดและขยายผล ให้ประชาชนในพื้นที่ มีอาชีพและรายได้หลังฟื้นฟูสภาพดินเค็ม โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ผศ.ดร.วุฒิศาสตร์ โชคเกื้อ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า หลังจากลงนามบันทึกความร่วมมือ คณะวิทยาศาสตร์ มสส.จึงมีแนวคิดในเรียนรู้ชุมชนผ่านกิจกรรมสหวิทยาในการเรียนรู้ และส่งเสริมความรู้สู่ชุมชนตามศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนแบบมีส่วนร่วม จึงได้วางแนวทางในการดำเนินงานเพื่อหนุนเสริมการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ การเรียนรู้ทรัพยากรในพื้นที่ดินเค็ม การวิเคราะห์คุณภาพน้ำและดิน การพัฒนาต่อยอดพืชพลังงานเพื่อแก้ปัญหาดินเค็ม การให้คำปรึกษาและจัดอบรมเพื่อส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนของประชาชน และการหาแนวทางหรือนวัตกรรมในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีนิสิตคณะวิทยาศาสตร์และนักเรียนในพื้นที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนข้างเคียง นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพดินเค็ม เพื่อทดแทนการปลูกข้าวและไม้ผล เช่น พืชสมุนไพรรากสามสิบและอื่นๆ