เปิดแล้ว! World HAPEX 2022 “ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤติโควิด-19” พร้อมผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนงานด้านฮาลาล
เปิดแล้ว! World HAPEX 2022 “ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤติโควิด-19” พร้อมผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนงานด้านฮาลาล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันฮาลาล เปิดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2565 (World HAPEX 2022) ภายใต้แนวคิด “ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤติโควิด-19” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับเกียรติจาก นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายอับดุลรอหมาน กาเหย็ม ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ. ดร.อิสมาแอ อาลี รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเข้าร่วมงาน
สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล หรือ World HAPEX ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 10 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถและสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ตลาดฮาลาลโลก รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิชาการฮาลาลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการเชิงสุขภาพด้านสินค้าและบริการฮาลาลในยุค COVID-19
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถาพิเศษ “ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤตโควิด-19” โดย ดร.ซอฟวาน มูฮัมหมัด ริฎอ อาลี อุฎอยบาต และผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและรับรองด้านชารีอะห์ สำนักวินิจฉัยข้อชี้ขาดด้านศาสนา ประเทศจอร์แดน การเสวนาทางวิชาการจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงด้านฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ การประชุมองค์กรความร่วมมือด้านฮาลาลระดับนานาชาติ ในส่วนภาคภาษาอังกฤษเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤติโควิด – 19 ในประเทศอาเซียน” (Online) ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพประเทศบูรไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย และภาคภาษาอาหรับ การเสวนาในหัวข้อเรื่อง “กิจการฮาลาลไทยและจอร์แดน” ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทางคุณวุฒิประเทศจอร์แดน และบาห์เรน ในส่วนเสวนาภาษาไทย
ได้แก่ หัวข้อ “มาตรฐานตอยยิบันสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ฮาลาลชั้นพรีเมี่ยม และแนวทางการปรับตัวการท่องเที่ยวฮาลาลเชิงสุขภาพหลังวิกฤตโควิด-19” การเปิดตัวหลักสูตรโลจิสติกส์ฮาลาล และกิจกรรม Halal Business Matching
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนฮาลาล และมีการแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ 200 ร้านค้า หลายหมวดหมู่สินค้า เช่น อาหารปรุงสด อาหารเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง ธุรกิจบริการ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของมุสลิมในภาคใต้ การแข่งขันอนาชีด การแข่งขันชาชัก และการแข่งขันอาหารฮาลาล เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกันยังจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง หลักสูตรผู้ดำเนินการสปา ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันฮาลาล กับ ชมรมธุรกิจบริการสุขภาพภาคใต้ (ตอนล่าง), การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การบริการวิชาการและกิจการด้านฮาลาล ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล กับ สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้, การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
เรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับการจัดการการท่องเที่ยวและบริการฮาลาลในประเทศไทย ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล กับ สมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน และ การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การจัดทำหลักสูตรและพัฒนาบุคลากรด้านฮาลาล การบริการจัดประชุมวิชาการและการแสดงสินค้าให้ถูกต้องตามหลักแนวปฏิบัติการจัดประชุมวิชาการและงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรกับมุสลิม ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล กับ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย