กาฬสินธุ์-เขื่อนลำปาวพร้อมรับน้ำตลอดช่วงฤดูฝนจัดจราจรน้ำไม่กระทบพื้นที่ท้าย
กาฬสินธุ์-เขื่อนลำปาวพร้อมรับน้ำตลอดช่วงฤดูฝนจัดจราจรน้ำไม่กระทบพื้นที่ท้าย
อิทธิพลของฝนที่ตกลงมาตลอดสัปดาห์ส่งผลดีให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนลำปาวจังหวัดกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวเผย ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำ 1,174 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% จากความจุอ่าง 1,980 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับปริมาณน้ำตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้ได้อีกว่า 800 ล้าน ลบ.ม.พร้อมบริหารจัดการจราจรน้ำไม่ให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้เข้าติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาว และตรวจสอบความแข็งแรงของตัวอาคารระบายน้ำหรือสปิลเวย์ หลังปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคาบเกี่ยวถึงต้นสัปดาห์นี้ มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีมวลน้ำจากเหนือเขื่อนไหลลงมาเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาวปริมาณมากกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม.พร้อมติดตามบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำไม่ให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า จากอิทธิพลของฝนที่ตกลงมาดังกล่าว ได้ส่งผลดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนลำปาวประมาณ 1,057 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,174 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% จากความจุอ่าง 1,980 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถรองรับปริมาณน้ำ และพร้อมรับน้ำตลอดฤดูฝนได้อีกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตามในช่วงเดียวกันปีนี้ หากเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา มีปริมาณมากกว่า ถึง 500 ล้าน ลบ.ม. ยืนยันว่าเพียงพอต่อการใช้น้ำทุกกิจกรรม ทั้งเพื่อการเกษตร ประปา อุปโภค บริโภคตลอดฤดูแล้งอย่างแน่นอน
นายสำรวย กล่าวต่อว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้นั้น เป็นการส่งน้ำเสริมน้ำฝน โดยได้เริ่มเปิดน้ำเข้าคลองระบบชลประทาน เพื่อการเกษตร และประมง มาตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2565 กำหนดปิดประมาณปลายเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ปัจจุบันทำการส่งน้ำและระบายน้ำวันเฉลี่ยวันละ 6 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการส่งน้ำเสริมฝนลงสู่ลำน้ำปาววันละ 2 ล้าน ลบ.ม. ส่งเสริมฝนเพื่อการเกษตรและประมงวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และเผื่อระเหยวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.
นายสำรวย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวยังได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดจราจรน้ำในช่วงนี้ จะต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและติดตามสถานการณ์ทุกวัน เพื่อไม่ให้กระทบยังพื้นที่ท้ายน้ำ ซึ่งหากมีปริมาณฝนตกลงมามากก็จะลดปริมาณการระบายน้ำลง ตามสถานการณ์ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการไหลลงไปสมทบพื้นที่ด้านล่างหรือลำชี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุทกภัย รวมทั้งส่งเจ้าหน้าทีหมั่นออกตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารระบายน้ำหรือสปิลเวย์และตลอดแนวพนัง ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
***เสียงสัมภาษณ์***นายสำรวย อินพิทักษ์