22/11/2024

เชียงใหม่- ศูนย์ CIC ม.เชียงใหม่ ร่วมกับ CCPIT หนิงเซี่ย ประเทศจีน จัด”กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับมณฑลหนิงเซี่ย”

ศูนย์ CIC ม.เชียงใหม่ ร่วมกับ CCPIT หนิงเซี่ย ประเทศจีนจัดกิจกรรม “เจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ โอกาสสินค้าไทยสู่ตลาดเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย”สร้างความร่วมมือทางการค้า การลงทุน บนเส้นทาง R3A และรถไฟลาว-จีน

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2565 เวลา 14:00-17:00 ศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ หน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ยจัดกิจกรรม “เจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ โอกาสสินค้าไทยสู่ตลาดเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย” เพื่อเป็นเวทีสร้างความร่วมมือทางการค้า การลงทุน บนเส้นทาง R3A และรถไฟลาว-จีน โดยได้รับเกียรติจาก นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมกับ มร.เฉา เจี้ยนลี่ รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าหนิงเซี่ย (CCPIT) โดยมี คุณเฉา หลีผิง ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและความร่วมมือ คณะกรรมการส่งเสริมการค้าหนิงเซี่ย อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศูนย์ CIC )องค์กรภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมในกิจกรรม ดังกล่าวรวมกว่า 70 บริษัท/องค์กร จากไทยและมณฑลหนิงเซี่ย ครอบคลุมกลุ่มกิจการที่เกี่ยวข้องกับ Cross Border E-commerce (CBEC), Logistics Provider, ผู้ประกอบการส่งออกนำเข้า เครื่องมือแพทย์ รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และอาหาร ของทั้งฝ่ายหนิงเซี่ย และไทย ผู้มีเกียรติ และผู้ประกอบการที่ร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ระบบ Zoom

อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดกิจกรรมฯ กล่าวว่า เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย นับเป็นหนึ่งในมณฑลเชิงยุทธศาสตร์ของจีนในสองประการคือ

ประการที่หนึ่งการเป็นมณฑลหลักในการเชื่อมประเทศจีนกับประเทศมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆไม่ว่าจะเป็นภูมิเอเซียกลาง เอเชียใต้ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทย การสร้างความร่วมมือกับมณฑลหนิงเซี่ยจึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้ากลุ่มฮาลาลของไทยในการเข้าสู่ตลาดฮาลาลในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมราว 21 ล้านคน ในขณะเดียวกันก็เป็นมณฑลที่มีสินค้าเกษตรคุณภาพไม่ว่าจะเป็น ไวน์องุ่น และ Goji Berry เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ประการที่สองเป็นหนึ่งในมณฑลต้นทางสำหรับการส่งออกตามเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป และการค้าผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน ซึ่งทำให้มณฑลหนิงเซี่ยเป็นมณฑลที่มีอัตราการเติบโตของ GDP และอัตราการเติบโตของการส่งออกในครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) เป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน

ความร่วมมือทางการค้ากับมณฑลหนิงเซี่ยจึงนับเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในหลากหลายมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเหนือของประเทศไทยที่มีด่านศุลกากรเชียงของเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับภูมิภาคตะวันตกของประเทศจีน รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟลาว-จีนที่ด่านโม่ฮานซึ่งอยู่ห่างจากด่านศุลกากรเชียงของเพียง 240 กิโลเมตร จึงเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อการค้ากลุ่มสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาล ตลอดจนสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถใช้ประโยชน์จากด่านศุลกากรพัสดุภัณฑ์เร่งด่วนโม่ฮาน หรือเขตศุลกากรพิเศษสำหรับ CBEC เมืองอิ๋งชวน มณฑลหนิงเซี่ยเพื่อนำเข้าสินค้าไทยสู่ตลาดจีนผ่านรูปแบบ Cross Border E-commerce รวมไปถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์จากหนิงเซี่ยที่เป็นหนึ่งในต้นทางของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป เพื่อส่งออกสินค้าไทยผ่านเครือข่ายรถไฟลาว-จีน และจีน-ยุโรปเข้าสู่กลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รวมไปถึงสินค้าทั่วไปเข้าสู่ยุโรป

ซึ่งทางศูนย์ CIC วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้งบอุดหนุนวิจัยจาก “กองทุนพิเศษแม่โขง ล้านช้าง” ผ่านการสนับสนุนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำการศึกษา “โอกาสจากการพัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China-Pan Asia ที่มีต่อการยกระดับศักยภาพการค้าข้ามแดนในพื้นที่กลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง” ถือเป็นหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับหนิงเซี่ยมาอย่างยาวนาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานการต่างประเทศ การส่งเสริมการค้าและสถาบันการศึกษาชั้นนำของมณฑลฯ โดยปัจจุบันทางวิทยาลัยฯได้เปิดหลักสูตรร่วมกับ North Minzu University (北方民族大学) มหาวิทยาลัยชั้นนำของหนิงเซี่ย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรทั้งสองฝ่าย รวมถึงมีความร่วมมือด้านพัฒนากำลังคนทั้งระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตกับหน่วยงานภาครัฐของมณฑลหนิงเซี่ย ขณะเดียวกันทางวิทยาลัยฯ ก็มีหลักสูตรปริญญาโทด้าน Cross Border E-commerce ไทย-จีนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะภาษาไทย-จีนเพื่อการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไทย-จีน จึงมีความพร้อมต่อการเป็นตัวกลางส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างหนิงเซี่ยกับประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับผลลัพธ์สำคัญในการจัดกิจกรรม Online Business Matching ในระหว่างมณฑลหนิงเซี่ยกับผู้ประกอบการไทยคือการเสนอให้เกิดการลงนาม MOU ระหว่าง 1) CCPIT หนิงเซี่ย กับ Northern Food Valley และ2) เขตเศรษฐกิจพิเศษ CBEC อิ๋งชวน หนิงเซี่ยกับศูนย์ CIC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อมุ่งสู่การสร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเพิ่มช่องทางการใช้ประโยชน์เส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ๆเช่นรถไฟลาว-จีน และเส้นทางขนส่งทางถนน R3A ที่ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับหนิงเซี่ย (มณฑลทางตะวันตก) สะดวกและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม

พัฒนชัย/เชียงใหม่

ข่าวที่น่าติดตาม