กาฬสินธุ์ พัฒนาศักยภาพนักทอผ้าพัฒนาลายอัตลักษณ์ไดโนเสาร์
ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก อำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดอบรม “การพัฒนาลายผ้าอัตลักษณ์ไดโนเสาร์สหัสขันธ์” เพื่อผลิตสินค้ารองรับการเปิดเมืองท่องเที่ยวและช่วงไฮซีซั่น และงานประเพณีใหญ่ช่วงเทศกาลออกพรรษา
ที่ศาลาการเปรียญวัดไตรภูมิ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการอบรม “พัฒนาลายผ้าอัตลักษณ์ไดโนเสาร์สหัสขันธ์” ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก อำเภอสหัสขันธ์ ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนทอผ้าในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.นิคม ต.โนนน้ำเกลี้ยง ต.สหัสขันธ์ และต.โนนศิลา ผู้เข้ารับการอบรม 40 คน มี ผศ.โกศล เรือนแสน อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์หอมหวน ตาสาโรจน์ และสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ เป็นวิทยากรหลัก ซึ่งการอบรมครั้งนี้เน้นไปที่การออกแบบไดโนเสาร์เพื่อทอเป็นลวดลายในผืนผ้า ที่จะเริ่มต้นจากผ้าทอมือ ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ และลายขิตไดโนเสาร์
รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานหัตถกรรมทอผ้า เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่จะสร้างเม็ดเงิน สร้างรายได้จากงานท่องเที่ยว ราคาที่จับต้องได้และนักท่องเที่ยวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ระยะยาว ซึ่งกลุ่มทอผ้าของอำเภอสหัสขันธ์ได้เริ่มต้นทำผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้าทอมือมานาน และมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ โดยเพิ่มเติมอัตลักษณ์พื้นถิ่นเข้าไป โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพัฒนาลายขิตไดโนเสาร์เพื่อประดับตกแต่งเสื้อให้สวยงาม ขิตไดโนเสาร์ เมื่อนำมาใช้เป็นลายในผ้าขาวม้ายิ่งทำให้เพิ่มเสน่ห์และบ่งบอกได้ว่าเป็นสินค้าของ “สหัสขันธ์” ดินแดนไดโนเสาร์ แต่อุปสรรคและปัญหาขณะนี้คือ กำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า จึงได้เพิ่มฐานการผลิตไปในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ แต่จำเป็นต้องควบคุมมาตรฐานการผลิต ด้วยเป็นสินค้าทอมือจะต้องใช้ความละเอียดสูงให้แต่ละกลุ่มมีสินค้าในมาตรฐานที่เทียบเท่ากันได้ โดยทางชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบทางการตลาดและงานประชาสัมพันธ์ มีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นพี่เลี้ยงในการผลิต เป็นการบูรณาการร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย
สำหรับพื้นที่อำเภอสหัสขันธ์ เป็นพื้นที่ที่จัดการท่องเที่ยวชุมชนแบบบูรณาการ เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีการจัดเส้นนำทางท่องเที่ยว บริการด้านอาหาร ที่พัก และอาหาร มีแพ็คเกจที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชน ที่เชื่อมโยงกันใน 8 ตำบล นอกจากนี้ยังมีจุดจำหน่ายสินค้าโอทอป ที่รวบรวมของดีอำเภอสหัสขันธ์ และของดีจาก 18 อำเภอ และในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นวันกำหนดจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ สักการะพระประชาชนบาล ครั้งที่ 18 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 50,000 คน