ชาวเลยเฮ!! รัฐอนุมัติงบเกือบ 2 พันล้าน สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง
ชาวจังหวัดเลย ได้เฮเมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วยงบ 1,835 ล้านบาท แก้ภัยน้ำท่วมภัยแล้ง
เมื่อวันที่ 29 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปชมสถานที่ก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาย บริเวณด้านหลังวนอุทยานภูบ่อบิด บ้านไร่ทาม ต.นาอาน อ.เมืองเลย จ.เลย ห่างจากชุมชนภูบ่อบิด ถนนเลย-นาด้วง 2 กม.ด้วยถนนหินลายซึ่งรวมแล้วจะตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลยเพียง 5 กม. ปัจจุบันเป็นฝายน้ำล้นชนบทห้วยน้ำลายที่ชำรุดลงมาก ท่ามกลางภูเขาสูงหลายลูก ซึ่งลำน้ำลายไหลลงมาผ่านสะพานที่ชุมชนภูบ่อบิดขณะนี้ก่อสร้างสะพานเพิ่มให้ยาวและกว้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำล้นน้ำท่วม จากนั้นน้ำลายก็จะไหลลงสูงแม่น้ำเลย อันเป็นสายน้ำหลักของจังหวัดเลยที่ไหลผ่านพื้นที่เทศบาลเมืองเลย ก่อนจะไหลลงไปลงแม้น้ำโขงที่ ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย
นายเริงชัย รักอยู่ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเลย เปิดเผยว่า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในพื้นที่ของ หมู่ 5 บ้านไร่ทาม ต.นาอาน อ.เมืองเลย จ.เลย โครงการนี้มีความเป็นมาของเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำริกับอธิบดีกรมชลประทานและเจ้าหน้าที่ ให้พิจารณาวางโครงการชลประทาน ลุ่มน้ำเลย โดยพิจารณาเขื่อนเก็บกักน้ำน้ำลาย เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำน้ำเลยทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูร้อน และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี
ต่อมานายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดเลยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 จ.เลย จึงได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติและเห็นชอบให้กรมชลประทาน จัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อดำเนินการพัฒนาต่อไป โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลายเป็น 1 ใน 4 โครงการที่ได้รับความเห็นชอบ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเลย เพื่อบรรเทาความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ
มีความจุของอ่างที่ระดับน้ำต่ำสุด 1.88 ล้าน ลบ.ม. ความจุของอ่างที่ระดับน้ำกักเก็บ 27.99 ล้าน ลบ.ม. ความจุของอ่างที่ระดับน้ำสูงสุด 34.91 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 17,200 ไร่ พื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 13,249 ไร่ เป็นแหล่งน้าดิบสนับสนุนการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเลย 4.00 ล้าน ลบ.ม. ค่าลงทุนของโครงการ มูลค่าการลงทุนของโครงการรวมทั้งสิ้น 1,835.10 ล้านบาท
ด้านนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เขต 1 จ.เลย พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสภาฯถึงความคืบหน้าโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ เพราะเมื่อ 20 พ.ย.2527 นำเสนอนายกรัฐมนตรี ณ วันนี้ยังไม่ได้สร้าง 18 ปี ที่ผ่านมานายกเห็นชอบ ผลประโยชน์ ต.ชัย ,นาอาน ,นาดิน ,น้ำสวย และ ต.กุดป่อง อ.เมืองเลย 3 ปีที่ผ่านมา น้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านสูงครั้งใหญ่ ลำน้ำไหลจากที่สูงก่อนที่น้ำลายจะไหลลงสู่แม่น้ำเลย จะเก็บน้ำได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รอง จากอ่างน้ำเลยที่ ต.แก่งศรีภูมิ อ.ภูหลวง ต้นแม่น้ำเลย
อ่างน้ำลายมีประโยชน์มาก ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบล จะช่วยประโยชน์ทางการเกษตร แก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ใกล้กับตัวเมืองเลย ด้านการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี 2564 แล้วด้วย รวมทั้งค่าชดใช้ให้แก่เกษตรกรปะชาชนด้วย ถ้าครั้งนี้ไม่เกิดขึ้นประชาชนจะไม่หวังแล้ว จะสร้างเมื่อไร เสร็จเมื่อไร งบประมาณก่อสร้างเท่าไรเพราะนี่คือความหวังความต้องการของประชาชนส่วนรวม
ส่วน นายประภัตร โพธสุธน รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำลายนั้น รัฐบาลไม่หยุดยั้งไม่หยุดนิ่ง และผมจะเดินทางไปดูพื้นที่ด้วยตนเอง ในปี 2547 สมัยนายกทักษิณฯไปตรวจราชการและเร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการ ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 20,600 ไร่ เป็นป่าวนอุทยานภูบ่อบิด ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าอนุรักษ์,ป่าเศรษฐกิจ” ป่า สปก.และที่ดินของประชาชน กรมชลประทานทำงานลำบาก แต่จะไม่เกินความสามารถ มาถึงวันนี้การสำรวจการศึกษาด้านความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ความจุอ่าง 27.99 ล้าน ลบ.ม. สันฝายยาว 110 เมตร สูง 8 เมตร พร้อมระบบท่อ
ใช้งบประมาณรวม 1,835 ล้านบาท งบประมาณได้ตั้งแล้ว แต่ปีนี้ตั้งไม่ทัน และคณะจะรีบไปเจรจากับประชาชนเรื่องการเวนคืน รัฐอนุมัติแล้วสร้างในปี 2568-2570 ระยะเวลา 3 ปีเสร็จแน่นอน หลังจากนั้นให้ประโยชน์พื้นที่ในฤดูแล้ง 13,249 ไร่เพื่อแก้ภัยแล้ง พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 17,200 ไร่ ต้องวาน ส.ส.จ.เลย เข้าช่วยด้านการเจรจากับประชาชนในพื้นที่ว่าอย่างตั้งเงื่อนไขเรื่องการเวนคืน และโครงการนี้แล้วเสร็จจะช่วยป้องกันอุทกภัย แก้ปัญหาภัยแล้ง เราทำได้ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าโครงการนี้เสร็จเรียบร้อยแน่นอน
บุญชู ศรีไตรภพ จ.เลย