22/11/2024

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปั้นโครงการ Special LawLAB “การสืบสวนสอบสวนยุค 5G” เปิดโลกตำรวจ ดึงนิสิตฯ เยาวชนเจอเนเรชันใหม่ อบรม เรียนรู้งานสืบสวน สอบสวน หวังแลกเปลี่ยนมุมความคิด สร้างความเข้าใจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปั้นโครงการ Special LawLAB “การสืบสวนสอบสวนยุค 5G” เปิดโลกตำรวจ ดึงนิสิตฯ เยาวชนเจอเนเรชันใหม่ อบรม เรียนรู้งานสืบสวน สอบสวน หวังแลกเปลี่ยนมุมความคิด สร้างความเข้าใจ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดโครงการ Special LawLAB “การสืบสวนสอบสวนยุค 5G” โครงการนำร่องศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง หรือ Young Lawyers – Police Engagement Pilot Project จัดโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) ที่คัดเลือกนิสิตชั้นปีที่ 2 – 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 25 คน จากผู้สมัครกว่า 90 คน เข้าฝึกอบรมภาควิชาการ และภาคปฏิบัติ กับตำรวจใน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สน.พญาไท, สน.ห้วยขวาง, สน.บางเขน, สน.บางนา และ สน.พระโขนง โดยมี พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณาฯ กล่าวเปิดงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอโครงการ Special LawLAB ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ จุฬา LawLAB ให้นิสิตคณะฯ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โครงการนี้เป็นเรื่องที่ดี เปิดโอกาสให้นิสิตฝึกงาน ปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากประสบการณ์จริง ช่วยให้นิสิตที่จะจบไปเป็นนักกฎหมายยุคใหม่ เข้าใจชีวิตการทำงานจริง นำประสบการณ์มาต่อยอดพัฒนากฎหมายในอนาคต ซึ่งโครงการนี้เป็นมิติใหม่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติตามแนวทางของสหประชาชาติ โดยการทำงานกับภาคสังคมโดยเฉพาะเยาวชน ขณะเดียวกันยังทำให้ตำรวจเข้าใจประชาชน ผ่านนิสิตซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลาย แตกต่างช่วงวัย และสภาพสังคม

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ กล่าวในการปฐมนิเทศนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ โดยบรรยายพิเศษ เรื่อง “หลักการสืบสวนสอบสวนในยุค 5G” กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความตั้งใจเปิดโลกการทำงานของตำรวจให้สังคมผ่านกลุ่มเยาวชน ที่เป็นนิสิตนักศึกษา เป็นไพลอตโปรเจ็กทดลองกับนิวเจเนอเรชัน

“เป็นการเปิดโลกการทำงานของตำรวจ ให้น้อง ๆ เยาวชนได้เข้าใจ ขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้ความคิดของน้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วย โดยเฉพาะน้อง ๆ เป็นนิสิตที่เรียนรู้ด้านกฎหมายอยู่แล้ว หวังว่านอกจากเรียนรู้ซึ่งกันและกันแล้ว นิสิตที่ผ่านการอบรมจะสามารถแอปพลายกฎหมายกับการทำงานจริง โดยคณะนิติศาสตร์มีโครงการ LawLAB อยู่แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เข้ามามีส่วนร่วม จะได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน หากทำแล้วมีประโยชน์จะขยายโครงการไปในภาคประชาชนด้วย โดยนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ จะเข้าไปเรียนรู้การทำงานจริงของตำรวจทุกด้าน ทั้งงานจราจร การตั้งด่าน ออกตรวจ งานสอบสวน การทำงานของพนักงานสอบสวน รวมไปถึงการสืบสวน เขาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เขาเรียนกฎหมายเรียนด้านทฤษฎีมา แต่ในหลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้ว่าจะนำกฎหมายที่เรียนมา ไปประยุกต์ใช้เมื่อปฏิบัติจริงได้อย่างไร” ผบ.ตร.กล่าว


พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ กล่าวว่า ไม่คาดหวังว่าในโครงการนี้จะเป็นการลดช่องว่างของคนรุ่นใหม่ กับคนรุ่นเก่า แต่ขอเข้าใจกันก่อน เห็นด้วยหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอให้เข้าใจความคิดประสบการณ์ของเจเนอเรชัน หรือทัศนคติที่แตกต่าง เพราะเชื่อว่าหากต่างมีความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว สังคมจะเดินไปได้ เด็กและผู้ใหญ่อาจมีค่านิยม การเติบโตมาที่แตกต่างกัน แต่หากมีความเข้าใจกันจะทำให้สังคมสงบเรียบร้อยขึ้น น้อง ๆ เยาวชนได้ไปขยายผลต่อให้คนในครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง อธิบายให้เข้าใจว่าตำรวจเขาทำอะไรกัน

“น้อง ๆ จะเข้าใจการทำงานของตำรวจได้ดีขึ้น เรียนรู้ประสบการณ์จริง เอากฎหมายไปใช้ เพราะความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ สังคมเราต้องเดินด้วยความเข้าใจ ไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร ขอให้เข้าใจกัน” พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ กล่าว

ผบ.ตร. กล่าวตอนหนึ่งว่า โลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารไม่รู้อะไรผิด หรือถูก คนส่วนใหญ่เลือกไปตามกระแส บ้างก็ไม่รู้อะไรถูก หรือผิด ค่านิยมสังคมเปลี่ยนไป สิ่งที่เป็นรอยแตกร้าวในสังคมปัจจุบัน คือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ขณะที่ ตำรวจพบปัญหาความท้าทายของโลกโซเชียลมีเดีย ข้อมูลท่วม คนเรียนรู้รวดเร็ว กฎหมายที่ออกแบบมาโบราณไม่ทันแล้ว เกิดการไต่สวนบนโลกโซเชียล เพราะไม่สามารถรอกระบวนการยุติธรรมตามรูปแบบได้ หลายเรื่องเจ้าหน้าที่พูดไม่ได้ เพราะมีคนได้ มีคนเสีย เปิดเผยไม่ได้ แต่ในโลกโซเชียลไม่มีกติกา เปิดอะไรก็ไม่รู้ได้หมด กระบวนการยุติธรรม ไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบสนองความต้องการของคน ที่ต้องการรู้เร็ว ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันทำอย่างนั้นไม่ได้ ในอนาคตต้องออกแบบกระบวนการยุติธรรมใหม่ ให้สอดคล้องกับสังคม โดยที่กฎหมายยังคงทำหน้าที่กติกาของสังคมอยู่
ขณะที่นิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็นว่า สมัครใจร่วมโครงการ เพราะอยากเรียนรู้การทำงานจริง ๆ ของตำรวจ
*****

ข่าวที่น่าติดตาม