เชียงใหม่ -ธ.ก.ส. จัดมหกรรม”แก้หนี้ แก้จน” เร่งช่วยเหลือลูกค้าก้าวข้ามวิกฤติ
เชียงใหม่ -ธ.ก.ส. จัดมหกรรม”แก้หนี้ แก้จน” เร่งช่วยเหลือลูกค้าก้าวข้ามวิกฤติ
เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา10.00 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลสันกำแพง (หอประชุมชั้น 2) ธ.ก.ส. จัดทัพสาขา จัดมหกรรม”แก้หนี้ แก้จน”พร้อมเปิดจุดลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 โดยมีนายภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอสันกำแพง นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน นายรังสรรค์ บูรณธะนัง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน นายสนอง ชัยชนะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดเชียงใหม่ นายกลศาสตร์ เรืองแสน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดเชียงใหม่ นายรณกร
ถิรัตตยศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเปิดมหกรรมแก้หนี้ แก้จน
เพื่อเข้าดูแลลูกค้าในพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การแบ่งเบาภาระหนี้ ผ่านโครงการชำระดีมีคืน การปรับโครงสร้างหนี้ การไกล่เกลี่ยหนี้ การพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ การประสานเครือข่ายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมเติมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อให้ลูกค้าสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา ภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าธนาคารต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สงครามความขัดแย้ง ภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา-19 ที่ต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง บางรายหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบจนเป็นภาระหนัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว ธ.ก.ส. จึงได้กำหนดแนวทางการเข้าไปดูแลลูกค้า โดยให้ ธ.ก.ส. ทุกสาขาบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” D&MBA : Design & Manage by Area ภายใต้แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนโดยคนในชุมชน และเน้นการเชื่อมโยงกับหัวขบวนตามแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดกระบวนการผลิต การจ้างงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ
นายสนอง ชัยชนะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเครื่องมือที่ ธ.ก.ส. เข้าไปสนับสนุน ประกอบด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในช่วงขาขึ้นขณะนี้ออกไปให้นานที่สุด เพื่อมิให้เป็นภาระต้นทุนกับลูกค้าในช่วงการ ฟื้นตัว การจูงใจให้ลูกค้ารักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีไว้ โดยดูแลในเรื่องผลตอบแทน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่คิดตามชั้นลูกค้าและการคืนเงินดอกเบี้ยเพื่อแบ่งเบาภาระผ่านโครงการชำระดีมีคืน จำนวน 2,000 ล้านบาท ให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม 2566
การดูแลภาระหนี้สินเดิม เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ตามศักยภาพ การไกล่เกลี่ยหนี้ การจัดทำคลินิกหมอหนี้ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การให้ความรู้ด้าน Financial Literacy/Digital Literacy การร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา ในการศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นต้น
การเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 สินเชื่อแฟรนไชส์ สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อ Contract Farming อัตราดอกเบี้ย MRR สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เป็นต้น การสนับสนุนช่องทางด้านการตลาดในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในระดับท้องถิ่น ตลาด Modern trade ตลาด E- Commerce ควบคู่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เงินฝาก สงเคราะห์ชีวิต กองทุนทวีสุข กองทุนเงินออมแห่งชาติ เป็นต้น
นายกลศาสตร์ เรืองแสน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า ในการดำเนินงานดังกล่าว ธ.ก.ส. ยึดหลักการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่เน้นหนักในด้าน BCG Model เพื่อก้าวสู่การพัฒนาระดับสากลตามแนวทาง SDG โดยขับเคลื่อนผ่านชุมชนต้นแบบที่ธนาคารได้พัฒนาไว้แล้ว จำนวน 7,927 แห่ง เพื่อมุ่งสู่ชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ทั้งด้านมิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี อาทิ การปรับเปลี่ยนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการปลูกพืชที่สร้างมูลค่าสูง การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ชุมชนไม้มีค่า ส่งเสริมการลดการเผา การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ชุมชนท่องเที่ยวอีกด้วย
พัฒนชัย/เชียงใหม่