กาฬสินธุ์ โผล่รายวันบ่อบาดาลทสจ.กาฬสินธุ์ถังเหล็กพิสดารชาวบ้านกลัวฟ้าผ่าล้มทับ
ชาวบ้านในตำบลดอนจาน อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีความหวังได้รับประโยชน์จากบ่อบาดาลพลังงานโซล่าเซลล์ ของทสจ.กาฬสินธุ์ เผยไม่มั่นใจประสิทธิภาพและความปลอดภัย เนื่องจากไม่เห็นตรวจวัดปริมาณน้ำใต้ดินก่อนขุดเจาะ ระบุถังเหล็กพิสดารบรรจุน้ำ 2 หมื่นลิตรล้อมด้วยแผ่นเหล็กทำเหมือนกระป๋องไม่ซีลรอยต่อวางตั้งพื้นรองน้ำด้วยผ้ายางพลาสติกด้านใน แถมมองไม่เห็นเครื่องหมายมาตรฐาน มอก.เสี่ยงโค่นล้มทับคน หวั่นไม่ได้มาตรฐาน แถมเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า เนื่องจากไม่มีสายล่อฟ้าที่เป็นระบบความปลอดภัยเหมือนของถังบ่อบดาลทั่วไป
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีชาวบ้านพบบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ หรือทสจ.กาฬสินธุ์ ส่อไปในทางไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และชาวบ้านหวั่นวิตกกังวลถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะถังเหล็กบรรจุน้ำแบบพิสดารขนาดกว่า 2 หมื่นลิตร ที่นำแผ่นเหล็กมาล้อมต่อกันทำเหมือนกระป๋องแต่ไม่ซีลรอยต่อ และใช้พลาสติกรองน้ำด้านในและตั้งไว้พื้นดิน ชาวบ้านเกรงว่าถังบรรจุน้ำขนาดใหญ่น้ำหนักกว่า 20 ตันเสี่ยงล้มทับได้รับอันตราย นอกจากนี้ระบบส่งน้ำต่ำ รวมถึงเกรงว่าการขุดเจาะปริมาณน้ำอาจจะใช้ไม่ถึงหน้าแล้ง และตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะไม่คุ้มเงินงบประมาณ 5 แสนบาท จึงอยากให้หน่วยงานทั้ง สตจ.กาฬสินธุ์และปปช.กาฬสินธุ์เข้ามาตรวจสอบ
ล่าสุดจากการลงพื้นที่แปลงนานายสุดใจ ภารกุลและนางอารี ไชยนามล สามี-ภรรยา ชาวบ้านด่านแต้ หมู่ 9 ต.ดอนจาน อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 19 แห่งที่ได้รับการจัดสรรบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ โดยมีการส่งมอบงานกันไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ทำให้ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวลตามมาหลายประการ โดยเฉพาะประสิทธิภาพการใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยของถังเหล็กบรรจุน้ำตั้งพื้น มีผ้ายางพลาสติกด้านใน ที่ชาวบ้านไม่เห็นมีเครื่องหมาย มอก.และไม่ได้ติดตั้งสายล่อฟ้า
โดยนายสุดใจ ภารกุล กล่าวว่า ก่อนที่จะลงมือเจาะบ่อบาดาลนั้น เท่าที่ติดตามดูไม่เห็นมีการสำรวจปริมาณน้ำใต้ดินเลย ซึ่งพอมาถึงก็ชี้จุดตั้งฐานเจาะความลึกประมาณ 80 เมตร ก่อนที่จะมาตั้งแผงโซล่าเซลล์จำนวน 6 แผง พร้อมระบบควบคุม ขณะที่ถังบรรจุน้ำที่นำแผ่นเหล็กทรงวงกลมมาต่อๆกันขึ้นไป ใช้น็อตขันประกบกัน และมีแผ่นพลาสติครองด้านในเพื่อบรรจุน้ำขนาด 2 หมื่นลิตรนั้น และที่สำคัญเท่าที่สังเกตไม่เห็นมีเครื่องหมาย มอก.เลย ทั้งนี้บ่อบาดาลดังกล่าวมีพื้นที่รับน้ำของเกษตรกร 5 ราย ประมาณ 59 ไร่ แต่ตนก็ไม่มั่นใจว่าปริมาณน้ำจะเพียงพ่อต่อการใช้สอยไปจนถึงหน้าแล้งหรือไม่ ซึ่งก็คงจะต้องดูกันอีกทีหนึ่ง
ด้านนางอารี ไชยนามล กล่าวว่า ตนและเพื่อนเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินติดต่อกัน เคยเขียนเรื่องขอรับความช่วยเหลือบ่อบาดาลผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาประมาณ 3 ปี ก่อนที่จะได้รับการจัดสรรบ่อบาดาลในครั้งนี้ ถือเป็นความโชคดี เพราะชาวบ้านคาดหวังว่าจะได้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง ทำการเกษตร สร้างงาน สร้างอาชีพ เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้ง ปลูกมันสำปะหลังก็ได้ผลผลิตน้อย พอได้รับการจัดสรรบ่อบาดาลพลังงานโซล่าเซลล์ทุกคนก็ดีใจ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นกังวลหลายประการ ทั้งกลัวว่าจะใช้งานไม่คุ้มค่า เนื่องจากถังบรรจุน้ำนั้นทรงสูง แบกรับน้ำหนักมากถึง 2 ตัน แต่เสาค้ำที่เป็นเหล็กสั้นๆแค่ 1 เมตรเท่านั้น จะรับน้ำหนักถังน้ำไหวหรือ หากดินข้างใดข้างหนึ่งทรุดตัวลง ถังน้ำคงเอียงและโค่นล้มทับลงมาแน่ๆ และอีกอย่างบริเวณนี้ในช่วงฤดูฝนเกิดเหตุฟ้าผ่าบ่อยมาก แต่การก่อสร้างกลับไม่มีสายล่อฟ้าอยู่บนถังเหมือนบ่อทั่วไป ดังนั้นจึงอยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบแก้ไข โดยเฉพาะการมาเสริมเสาค้ำยันรอบตัวถังเก็บน้ำ รวมทั้งติดตั้งสายล่อฟ้า เพื่อป้องกันฟ้าผ่าด้วย เพราะหากถังโค่นล้ม หรือถูกฟ้าผ่าก็จะเกิดความเสียหายได้ง่ายๆ