“เฉลิมชัย “รัฐมนตรีเกษตรฯ.ลุยช่วยกรุงเทพต่อเนื่องสั่งชลประทานเร่งระบายน้ำในพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออกลงแม่น้ำบางปะกง
“เฉลิมชัย “รัฐมนตรีเกษตรฯ.ลุยช่วยกรุงเทพต่อเนื่องสั่งชลประทานเร่งระบายน้ำในพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออกลงแม่น้ำบางปะกง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำท่าถั่ว จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี นายธนา ชีรวินิจเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานและผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมรับฟังการรายงานสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำออกทางคลองแนวขวางทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ผ่านสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ประกอบด้วย คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต และระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก ผ่านสถานีสูบน้ำเสาวภาผ่องศรี, คลองหกวาสายล่าง ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านสถานีสูบน้ำสมบูรณ์, คลองบางขนากระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านสถานีสูบน้ำบางขนาก, คลองนครเนื่องเขต ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านสถานีสูบน้ำท่าไข่, คลองประเวศน์บุรีรมย์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านสถานีสูบน้ำท่าถั่ว และคลองสำโรง ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านสถานีสูบน้ำท่าปากตะคลอง และยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เสริมศักยภาพการระบายน้ำซึ่งปัจจุบันสามารถระบายน้ำได้รวมกันประมาณวันละ 63 ล้านลบ.ม.
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งเป็นคลองหลักที่ใช้ระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครกรมชลประทานได้สูบระบายน้ำในคลองประเวศฯ ออกทางสถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ ลงสู่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตก่อนจะสูบระบายออกทางแม่น้ำบางปะกง ผ่านทางสถานีสูบน้ำท่าถั่ว และได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว พร้อมใช้คลองแนวตั้งฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อแบ่งรับน้ำจากทางตอนบนของกรุงเทพมหานคร ระบายน้ำผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต ก่อนจะใช้สถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล ได้แก่ สถานีสูบน้ำตำหรุ สถานีสูบน้ำบางปลาร้า สถานีสูบน้ำบางปลา สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ สถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ สถานีสูบน้ำคลองด่าน 2 สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 1, 2, 3 สถานีสูบน้ำนางหงษ์ สถานีสูบน้ำพระยาวิสูตร และสถานีสูบน้ำเทพรังสรรค์ เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยต่อไป
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้มีการขุดลอกตะกอนดินบริเวณด้านเหนือของสถานีสูบน้ำท่าถั่วให้กว้างและลึกขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น พร้อมกับติดตั้งบาน Bulkhead Gate ที่ประตูน้ำ เพื่อเสริมความแข็งแรงอีกชั้นหนึ่ง เตรียมรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสมทบอีกในระยะต่อไป ทั้งนี้ การเร่งระบายน้ำดังกล่าว จะทำให้ระดับน้ำในคลองประเวศฯ บริเวณที่ไหลผ่านเขตลาดกระบังลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตลาดกระบังและพื้นที่ใกล้เคียง ไหลลงสู่คลองประเวศฯได้สะดวกมากขึ้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาว กทม.ฝั่งตะวันออก ที่กำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ในขณะนี้ ส่วนในระยะยาวกรมชลประทาน ได้วางแผนดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง หากแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากพื้นที่ออกสู่แม่น้ำบางปะกงให้เร็วขึ้นอีกด้วย
“จากปริมาณฝนที่ตกลงมาจำนวน ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในคลองประเวศบุรีรมย์ ส่งผลให้พื้นที่ลาดกระบังเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง กรมชลประทานจึงต้องเร่งระบายน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่ลาดกระบัง โดยได้มีการเพิ่มเครื่องสูบน้ำอีก 8 ตัว บริเวณสถานีสูบน้ำท่าถั่ว รวมกับของเดิมเป็น 14 ตัว สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดการณ์ว่า หากไม่มีฝนลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 – 3 วัน โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมทั้งในส่วนของเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากร ให้พร้อมรับมือสถานการณ์ตลอดตลอด 24 ชั่วโมง และเน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนทุกกลุ่มน้อยที่สุด” นายเฉลิมชัย กล่าว