23/11/2024

เชียงใหม่-การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร”

เชียงใหม่-การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร”

วันจันทร์ที่ 10 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2565 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นเจ้าภาพจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร และ การสนทนากลุ่ม (Focus Group) เรื่อง “กำหนดแนวทางปฏิบัติการค้าข้ามพรมแดนระหว่างภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างและข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับการจัดการการเลี้ยงผึ้งในภูมิภาค กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับภูมิภาค”ในวันอาทิตย์ที่ 9 และ วันจันทร์ที่ 10ตุลาคม 2565


โดย มีรองศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดการสัมมนา พร้อมกันนี้ได้เชิญตัวแทน จากภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วย ไทย จีน ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญ (Invited Speaker)และมีตัวแทนผู้ประกอบการและนักวิชาการด้าน ผึ้ง เข้าร่วมนำเสนอในการประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุม โรงแรม ยู นิมมาน เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เทิด ดิษยธนูวัฒน์ หัวหน้าโครงการการจัดการการเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2564 เพื่อจัดโครงการต่างๆเพื่อยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ระหว่างปี พ.ศ.2565- 2567โดยแผนดำเนินงานในปีพ.ศ.2565 มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในด้านการผลิตอย่างครบวงจรพัฒนาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างคุ้มค่าและช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวบรวมองค์ความรู้ และถ่ายทอดผลงานวิจัยต่างๆ โครงการนี้จะช่วยยกระดับและส่งเสริม การเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแมโขง-ล้านช้างอย่างเป็นระบบเพื่อก้าวสู่มาตรฐานสากลและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

ดังนั้นโครงการ ดำเนินการวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคแมโขง-ล้านช้างในการสำรวจสุขภาพของผึ้ง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง/อุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งและนักวิทยาศาสตร์เพื่อติดตามสุขภาพผึ้งการจัดการการเลี้ยงผึ้งอย่างเป็นระบบสำหรับการผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่มีคุณภาพเพื่อการบริโภคและเพื่อการค้า และการแบ่งปันนโยบายทางการค้าผลิตภัณฑ์ผึ้งที่มีคุณภาพ เช่น น้ำผึ้ง นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูล (Big data analyze) ขององค์ความรู้ที่เกิดจากดำเนินโครงการ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้กับลักษณะทางสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดภาพแบบองค์รวมเพื่อช่วยให้เห็นภาพใหญ่ในการอนุรักษ์ผึ้งเอเชีย

โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร” มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจมีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (GAP)เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้ง เพื่อกำหนดมาตรฐานน้ำผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 120 ท่าน ทั้งจากภาครัฐและเอกชนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เขตภาคเหนือ และภาคอื่นๆ นักวิจัยในเครือค่าย เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ จากกลุ่มประเทศในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง: พม่า ไทย เวียดนาม ลาว  และ จีน คาดหวังว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ร้อยละ 80 มีความเข้าใจถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ร้อยละ 20 สามารถนำความรู้ที่ได้รับต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

 

นภาพร/เชียงใหม่

ข่าวที่น่าติดตาม