“อธิบดี กรมทะเลและชายฝั่ง”ย้ำหน่วยงานในพื้นที่ เข้มมาตราการคุ้มครองป้องกันภัยคุกคามสัตว์ทะเลหายาก ดึงภาคประชาชนร่วมดูแลและแจ้งเหตุสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล 1362
“อธิบดี กรมทะเลและชายฝั่ง”ย้ำหน่วยงานในพื้นที่ เข้มมาตราการคุ้มครองป้องกันภัยคุกคามสัตว์ทะเลหายาก ดึงภาคประชาชนร่วมดูแลและแจ้งเหตุสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล 1362
วันที่ 10 ตุลาคม 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนาย นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่า ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.)ได้ทำการชันสูตรซากพะยูนเกยตื้น ซึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เรื่องพบซากพะยูนเกยตื้น ณ บริเวณสะพานท่าเรือควนตุ้งกู ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม โดยทางเจ้าหน้าที่ ศวอล.ได้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ในการช่วยขนย้ายซากพะยูนมายังศูนย์วิจัยฯ เพื่อทำการชันสูตรหาสาเหตุการตาย ด้านเจ้าหน้าที่ ศวอล. และ ศวอบ. จึงเข้าทำการตรวจสอบซากพะยูนตัวดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยพบว่าพะยูนมีความยาวลำตัวโดยวัดแนบยาว 2.5 เมตร เพศผู้ อยู่ในช่วงโตเต็มวัย เขี้ยวอยู่ครบทั้งสองข้าง ความสมบูรณ์ของร่างกายค่อนข้างผอมเล็กน้อย ลักษณะภายนอกพบรอยเขี้ยวจากพฤติกรรมฝูงทั่วลำตัว ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์ สภาพซากเน่า ผิวหนังลอกหลุด และบวมอืด เมื่อเปิดดูอวัยวะภายในพบว่า อวัยวะภายในส่วนใหญ่เน่าสลายไม่สามารถระบุรอยโรคได้ชัดเจน ส่วนของทางเดินอาหารพบอาหารจำพวกหญ้าทะเลภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ พบพยาธิกลุ่มพยาธิตัวกลมจำนวนมากในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กพบพยาธิใบไม้ภายในกระพุ้งลำไส้ใหญ่
นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้ยังพบขยะทะเลประเภทกิจกรรมทางการประมงและเดินเรือ ได้แก่ เศษเชือกกระสอบปุ๋ย เศษเชือกและเศษอวน ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่แต่นั้นไม่ใช่สาเหตุการตาย ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้สรุปสาเหตุการตายโดยคาดว่าเกิดจากพะยูนป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากพบพยาธิซึ่งเป็นปรสิตภายในทางเดินอาหารจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของพะยูน ทำให้พะยูนผอม สภาพร่างกายอ่อนแอลงและตายในที่สุด นอกจากนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายสำคัญอย่างการเข้มงวดในมาตราการคุ้มครองป้องกันภัยคุกคามสัตว์ทะเลหายาก ด้วยการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หากประชาชนพบการลักลอบทำลายทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก สามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล 1362 ตลอดจนมอบแนวทางในการปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล สัตว์ป่า และสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์สงวนที่ใกล้จะสูญพันธุ์ พร้อมทั้งกำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติให้สำเร็จ โดยเน้นเป้าหมายการเพิ่มจำนวนประชากรของพะยูน และดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลพะยูน เพื่อส่งต่อให้ถึงมือคนรุ่นหลังได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืนที่สุด
นายอรรถพล กล่าวเสริมว่า ด้วยเหตุนี้ ตนได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งหารือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานจังหวัดและท้องถิ่น เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ พร้อมกับเพิ่มมาตรการในการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลสัตว์ทะเลหายากทุกชนิดให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการเกยตื้นตลอดจนแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกตกค้างในทะเล รวมถึงขยะจากเครื่องมือประมงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียสัตว์ทะเลหายากหลายชนิด ผ่านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจผ่านสื่อต่างๆ ตลอดจนจัดกิจกรรมให้ความรู้และเสริมสร้างแนวทางในการช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตให้แก่เครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประมงชายฝั่ง ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และภาคประชาชน ให้ระมัดระวังในขณะทำกิจกรรมทางทะเล ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ลำคลอง หรือท้องทะเล นอกจากนี้ยังฝากให้หน่วยงานในแต่ละพื้นที่ดำเนินการจัดกิจกรรม CSR ดำน้ำเก็บขยะทะเลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการดึงเอาหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายเยาวชนและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้รักและหวงแหนในสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียงที่สามารถสื่อสารออกไปให้สังคมได้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลที่เป็นสมบัติของทุกคนในประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ พะยูนก็เหมือนคนเรา หากเห็นที่ไหนปลอดภัย สวยงาม น่าอยู่ ก็อยากจะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น การปล่อยธรรมชาติที่มีแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ถือเป็นวิถีที่ดีที่สุด และทุกคนต้องหันมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น ลดการใช้และทิ้งขยะพลาสติก เครื่องมือทำการประมงลงไปในระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งหากพบเจอพะยูนหรือสัตว์ทะเลหายากทุกชนิดเกยตื้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ทุกคนแจ้งเบาะแสมายังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ให้เข้าทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีต่อไป “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย”