ชาวเชียงคาน แห่ร่วมงานผาสาดลอยเคราะห์ นทท. ตื่นตาตื่นใจแข่งไหลเรือไฟ ริมฝั่งโขง
ชาวเชียงคาน แห่ร่วมงานผาสาดลอยเคราะห์ นทท. ตื่นตาตื่นใจแข่งไหลเรือไฟ ริมฝั่งโขง
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.65 ที่บริเวณริมฝั่งโขงระหว่างหน้าวัดศรีคุณเมือง ถึง ลานวัฒนธรรมหน้าวัดท่าคก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ ปลัดจังหวัดเลย นายอภินันท์ สุวรรณโค นายอำเภอเชียงคาน ร่วมพิธีผาสาดลอยเคราะห์และชมการแข่งขันไหลเรือไฟ บริเวณลานวัฒนธรรม หน้าวัดท่าคก โดยมีประชาชน นักท่องเที่ยวร่วมพิธีและชมการแข่งขันไหลเรือไฟ เนื่องในประเพณีออกพรรษาที่เชียงคาน เป็นจำนวนมาก
พิธีกรรมผาสาดลอยเคราะห์ เป็นประเพณีดั้งเดิมของเชียงคาน โดยชุมชนคุ้มวัดต่างๆ จะร่วมกันจัดทำปราสาทผึ้ง ผาสาดลอยเคราะห์ และแข่งขันเรือยาว ส่วนผาสาดลอยเคราะห์ที่ทำจากหยวกกล้วยคล้ายกระทง ตกแต่งด้วยดอกผึ้ง เทียน ดอกไม้ ของคาวและของหวาน จากนั้นจะนำไปลอยลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อเสริมดวงชะตา และระลึกถึงพระคุณแม่น้ำโขง (พระเมตตา) ถือว่าเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ และนับได้ว่ามีเพียงแห่งเดียวที่อำเภอเชียงคานสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะร่วมพิธีลอยผาสาด จะต้องตัดเล็บ ตัดผมของตนเอง ใส่ลงไปในกระทงผาสาด ก่อนที่จะนำไปลอยด้วย เพื่อเปรียบเสมือนเป็นการลอยสิ่งไม่ดีหรือลอยเคราะห์ให้กับตัวเอง
พิธี “ผาสาดลอยเคราะห์” ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการปล่อยทุกข์ปล่อยโศกที่เข้ามาในชีวิตของผู้นั้น ขณะที่คนป่วยไข้ การทำพิธีก็เพื่อให้เจ้ากรรมนายเวรต่างๆ ไม่ติดตามจนทำให้ไม่สบาย ถือเป็นความเชื่อที่จะขจัดปัดเป่าเรื่องเลวร้ายที่เข้ามาในชีวิตของช่วงปีที่ผ่านมา
ประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีลอยกระทงตามแบบอีสาน เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดง พระธรรมโปรดพระพุทธมารดา เป็นความเชื่อถือว่าถ้าจัดพิธีนี้ขึ้น ก็จะเป็น การแสดงความเคารพต่อพระยานาค ที่สถิตอยู่ตามแม่น้ำใหญ่ ให้คุ้มครองรักษาผู้สัญจรไปมาทางนำไม่ให้มีภัยอันตรายเกิดขึ้น
“เรือไฟ” ทำด้วยท่อนกล้วยและไม้ไผ่ยาวประมาณ 20 -30 เมตร ใช้ไม่ไผ่ซีก ทำโครงเป็นรูปเรือประดับด้วยไต้ หรือตะเกียงนำมันวางเรียง ห่างกันประมาณ 1 – 2 คืบ ภายในบรรจุไปด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และขนม ข้าวต้ม ฝ้าย ไหม และเครื่องไทยธรรมต่างๆ มากมาย ที่พุทธศาสนิกชนที่มี จิตศรัทธามาร่วมทำบุญ ตกค่ำ จะจุดไต้หรือ ตะเกียง ให้สว่างแล้วน้ำเรือออกไปกลางแม่น้ำ แล้วปล่อยให้เรือไหลไป ตามแม่น้ำ คล้ายกับการลอยกระทง ท้องน้ำก็จะสว่างไสว ไปด้วยไฟระยิบ ระยับ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมตามริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นอย่างมาก
บุญชู ศรีไตรภพ จ.เลย
ภาพ สปช.เลย