สมาคมเครือข่ายสื่อฯภาคอีสาน สร้างเครือข่าย “นักข่าวชาวบ้าน” สู่นักสื่อสารสร้างสรรค์มืออาชีพ
สมาคมเครือข่ายสื่อฯภาคอีสาน สร้างเครือข่าย “นักข่าวชาวบ้าน” สู่นักสื่อสารสร้างสรรค์มืออาชีพ
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ร่วมกับร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลวังหินลาด,ศูนย์ศึกษาพระเครื่อง จ.ขอนแก่น และไทยเสรีนิวส์ จัด โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล “นักข่าวชาวบ้าน” ประจำปี 2565 ขึ้น ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2565 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลวังหินลาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น โดยมี นายไพศาล วงค์ซีวะสกุล ปลัดอาวุโสอำเภอชุมแพ เป็นประธานเปิดการอบรมฯ ผศ.ดร.อำไพพรรณ สิงห์สกุล ผอ.ศูนย์ศึกษาพระเครื่อง จ.ขอนแก่น กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการฯ นายยุทธนา ชินทะนาม ประธานสภาฯ อบต.วังหินลาด ,คณะผู้บริหาร อบต.วังหินลาด ,ผู้นำชุมชน และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้าน เข้าร่วมอบรม
โดยมี อาจารย์จำรัส จันทนาวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการหลอกลวงในโลกออนไลน์ ,วิธีการสร้างเรื่อง Content สร้างสื่อและตกแต่งแก้ไข ,การถ่ายภาพด้วยมือถือ และการตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Snap Seed, Canva, เทคนิคการถ่ายภาพ ,การเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์และ พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน บรรยายเรื่องรู้จักสื่อออนไลน์ ,เทคนิค การนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์และการใช้ Social Media ,จริยธรรมสื่อมวลชน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.PDPA และในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่ม Work shop ระดมสมอง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยคณะวิทยากร
พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน เปิดเผยว่า “นักข่าวชาวบ้าน” เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่คนในชุมชนหันมาจับกล้องสวมบทบาทเป็นนักข่าว บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตน ซึ่งแนวคิดนี้กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ โดยมีการขยายแนวคิดนี้ ให้คนธรรมดาที่สนใจได้เปลี่ยนบทบาทเป็นนักข่าวชาวบ้าน ทำให้เกิดคำถามว่า “นักข่าวชาวบ้าน” มีมโนทัศน์เกี่ยวกับจริยธรรมสื่อในการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างไร การรายงานข่าวสาร ข้อมูล เรื่องราวเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสนใจของประชาชนผ่านทางสื่อออนไลน์อย่างเป็นอิสระ โดยไม่ได้ผ่านการฝึกฝนหรืออบรมวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผลิตเนื้อหาข่าวเผยแพร่ไปสู่สาธารณะด้วยตัวเอง การรายงาน ข้อมูลข่าวที่เน้นความรวดเร็วของนักข่าวชาวบ้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบโดยกองบรรณาธิการ ทำให้เกิดปัญหาข่าวสารที่มีลักษณะไม่รอบด้าน หรืออาจมีการเผยแพร่รูปภาพที่ไม่สมควรออกไป นำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การละเมิดลิขสิทธิ์ และหมิ่นประมาท
เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น กระบวนทัศน์ในการกำกับดูแลสื่อ โดยมี จรรยาบรรณสื่อหรือจริยธรรมสื่อมาเป็นแนวทางพื้นฐานในการปฏิบัตินั้น สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในอิทธิพลของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย จึงต้องการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในตำบลวังหินลาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจาก 12 หมู่บ้าน ได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ พร้อมฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อแบบเข้มข้นจากนักสื่อสารมืออาชีพ ให้ความรู้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในยุคดิจิทัล เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับงานด้านประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการทำงานในอนาคตได้