23/11/2024

“วราวุธ” ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในงาน GCNT Forum 2022 รวมพลังภาคธุรกิจนำพาประเทศไทย ก้าวสู่สังคม Carbon Neutrality

“วราวุธ” ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในงาน GCNT Forum 2022 รวมพลังภาคธุรกิจนำพาประเทศไทย ก้าวสู่สังคม Carbon Neutrality


วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) เวลา 11.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เข้าร่วมการประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 ภายใต้แนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges ที่สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) ร่วมกับ สหประชาชาติ ประเทศไทย และองค์กรสมาชิกกว่า 110 องค์กร ทั้งไทยและต่างประเทศรวมพลังจัดขึ้น เพื่อเพิ่มมาตรการรับมือกับวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ


ในการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยมองว่า ภาคเอกชนและสหประชาชาติเป็นภาคีที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG มาส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ การขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนมีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้


จากนั้น นายวราวุธ ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงเป็นลำดับที่ 9 ของโลก ทำให้ต้องปรับปรุง “ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย” หรือ LT-LEDS ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) เพิ่มเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีแนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน และในการประชุม COP27 ระหว่างวันที่ 3- 18 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ ณ เมือง ชาร์ม เอล ชีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จะเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการนำเสนอผลงานความสำเร็จของไทย ในการดำเนินการภายใต้ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส ที่จะแสดงศักยภาพและความพร้อมในการนำพาประเทศไทย ก้าวสู่ Carbon Neutrality อย่างยั่งยืนต่อประชาคมโลกอีกครั้ง

ข่าวที่น่าติดตาม