กาฬสินธุ์-ช่างคุมงานบ่อบาดาลทสจ.กาฬสินธุ์เปิดทีโออาร์ยันถังเหล็กใหญ่มีมาตรฐานไม่ต้องมีมอก.
ช่างคุมงานเขียนแบบกำหนดทีโออาร์โครงการบ่อบาดาล ทสจ.กาฬสินธุ์ แจงเพิ่มขนาดถังในทีโออาร์ ส่วนสาเหตุถังบาดาลไม่มีเครื่องหมาย มอก.เนื่องจากเป็นการผลิตแยกชิ้นส่วนขนาดใหญ่มาประกอบ ย้ำผลิตจากโรงงานที่มีคุณภาพมาตรฐาน ISO ผ่านการทดสอบแรงดันและรับรองจากวิศวกร ระบุชี้ส่วนใหญ่ถังเหล็กที่มีเครื่องหมาย มอก.เป็นถังขนาดเล็กบรรจุน้ำไม่เกิน 15,000 ลิตร
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 จากกรณีชาวบ้านร้องเรียนตรวจสอบถังเหล็กบรรจุน้ำบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ในโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งยอมรับดัดแปลงรูปแบบจากกรมพลังงาน โดยมีการนำแผ่นเหล็กมาล้อมต่อเรียงกันขึ้นไปตั้งไว้พื้นดิน และใช้พลาสติกรองรับน้ำด้านใน แต่ไม่มีเครื่องหมาย มอก.ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าจะไม่คุ้มงบประมาณ 5 แสนบาท เพราะไม่เคยเห็นถังลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จ.กาฬสินธุ์ และ ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ พร้อมเข้ามาตรวจสอบ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุด ที่สำนักงานพลังงาน จ.กาฬสินธุ์ ทีมข่าวได้เข้าสอบถามนางดวงเดือน จักรปล้อง ผอ.พลังงาน จ.กาฬสินธุ์ และนายปรัชญพงศ์ วงค์ตา วิศวกรปฏิบัติงาน สำนักงานพลังงาน จ.กาฬสินธุ์ โดยระบุว่า แบบถังบาดาลเหล็กดังกล่าว ทางกระทรวงพลังงาน ได้ทำการออกแบบเมื่อประมาณปี 2562 เพื่อให้สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นำติดตั้งให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับกองทุนฯ
นายปรัชญพงศ์ วงค์ตา วิศวกรปฏิบัติงาน สำนักงานพลังงาน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รูปแบบของถังบาดาลดังกล่าว มีการเผยแพร่ทางเวปไซต์ของกองทุนฯ โดยไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ มีหลายรูปแบบ หากหน่วยงานไหนต้องการนำไปดัดแปลงแก้ไข ก็สามารถดาวน์โหลดรูปแบบทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ที่ผ่านมาทางพลังงานไม่ได้เข้าไปดูแลในส่วนของคุณภาพวัสดุ เนื่องจากเป็นในส่วนของกองทุนฯและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำกับดูแลในการบริหารจัดการ และงบประมาณ ซึ่งหลายโครงการและหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานต่างๆนำไปกำหนดทีโออาร์เอง และปรับเปลี่ยนแบบในการก่อสร้างให้เหมาะสมกับพื้นที่และงบประมาณ ซึ่งเท่าที่ทราบการก่อสร้างบ่อบาดาลส่วนใหญ่ถังเหล็กใส่น้ำนั้นจะต้องมีเครื่องหมาย มอก. แต่ก็เป็นถังสำเร็จรูปขนาดเล็กไม่เกิน 15,000 ลิตร
ขณะที่นายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการนี้ กล่าวว่า บางอย่างสินค้าหรือวัสดุ ที่กำหนดในทีโออาร์และนำมาใช้ มีรายการคำนวณคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีประกันรับรองอยู่ในคู่สัญญา ทางผู้รับจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญา มีหนังสือรับรอง เป็นของใหม่ ไม่เคยใช้งานมาก่อน และวิศวกรก็คำนวณความมั่นคง แข็งแรง โดยควบคุมการติดตั้งด้วยตนเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เบิกจ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้านนายปริญญา แสงอินทร์ นายช่างคุมงานและผู้อออกแบกำหนดทีโออาร์โครงการดังกล่าวฯ ระบุว่า สำหรับการแบบการก่อสร้างบ่อบาดาลโครงการนี้ ได้นำแบบจากกองทุนหลังงานมาประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และงบประมาณที่มีอยู่ ส่วนการกำหนดทีโออาร์วัสดุอุปกรณ์ในโครงการบ่อบาดาล โดยเฉพาะถังน้ำเหล็กขนาดบรรจุน้ำ 20,000 ลิตร ได้ตั้งราคากลางไว้ 120,000 บาท ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่ได้ระบุว่าถังน้ำต้องมี มอก.นั้น เดิมถังน้ำเหล็กในทีโออาร์ได้มีการกำหนดเป็นถังเหล็กสำเร็จรูปมีเครื่องหมาย มอก.ขนาด 6,000 ลิตร 2 ถัง รวมเป็น 12,000 ลิตร แต่เนื่องจากเกษตรกรมีความต้องการและอยากได้ปริมาณน้ำมากกว่านี้ เพื่อใช้ประโยชน์มากๆ
จึงได้กำหนดใหม่ โดยเพิ่มถังเหล็กเป็น 20,000 ลิตร แต่เนื่องจากถังเหล็กขนาดใหญ่ผลิตออกมาแบบสำเร็จรูป ที่มีเครื่องหมายมอก.นั้น จะมีแค่ขนาดไม่เกิน 15,000 ลิตร ส่วนถังสำเร็จรูปขนาด 20,000 ลิตรนั้น ค่อนข้างหายาก และไม่ค่อยมีโรงงานผลิตออกมา ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นชิ้นส่วนที่ได้รับการรองรับมาตรฐานคุณภาพอุตสาหกรรมโรงงาน ISO แล้วมาประกอบเข้ากัน เพราะสะดวกในการขนย้าย ทั้งนี้ ถ้ามีถังเหล็กขนาดใหญ่ 20,000 ลิตร ที่ทำสำเร็จรูปและมี มอก. ก็มีราคาสูงเกินงบประมาณที่มีอยู่ เคลื่อนย้ายลำบาก การติดตั้งก่อสร้างลำบาก
นายปริญญา กล่าวอีกว่า โครงการบ่อบาดาลนี้ก็เช่นกัน เป็นการนำชิ้นส่วนที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงงานมาประกอบเป็นถังน้ำเหล็ก ขนาด 2 หมื่นลิตร หรือ 20 ลบ.ม.ตัวถังเป็นแผ่นเหล็กกำลังสูง เคลือบป้องกันการผุกร่อน ความหนา 1.2 มม .ความสูง 6 เมตร บรรจุน้ำได้ 2 หมื่นลิตร ภายในบุด้วยพลาสติกพีวีซี Liner ชนิดเสริมเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ขนาด 0.70 มม. ซึ่งเป็นวัสดุป้องกันการรั่วซึม ป้องกันสนิม และช่วยรักษาอุณหภูมิของน้ำให้เป็นปกติ โดยการดำเนินก่อสร้างมีช่างคุมงานและวิศวกรรับรองความปลอดภัยด้วย