เชียงใหม่-จัดงาน”สืบปณิธาน สานสายใย ผ้าทอชาติพันธ์ุ”50ปี สธวท.-เชียงใหม่
สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย จังหวัด เชียงใหม่ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงาน“ สืบปณิธาน สานสายใย ผ้าทอชาติพันธุ์ ” 50 ปี สธวท.-เชียงใหม่ เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
โดยมีนายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ คุณหญิงณัฐธิกา วัธนเวคินอังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษาสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คณะนายก สธวท.ทุกจังหวัด และสมาชิก สธวท.ทุกจังหวัด แขกผู้มีเกียรติ ร่วมงานอย่างคับคั่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่
ดร.อนิดา โทณะวณิก นายกสมาคมสตรีธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ในพระบรมราชินีปภัมภ์ กล่าวว่า สธวท.-เชียงใหม่เริ่มปีการก่อตั้ง 2512 จดทะเบียนในปี 2514 สู่การรวมตัวกันเป็นสหพันธ์สมาคมสตรีธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในปี 2519 และอยู่ภายใต้พระบรมราชินีปภัมถ์ในปี 2524 ปัจจุบันนี้ 2565 รวมระยะเวลาการเดินทางของ สธวท.เชียงใหม่ กว่า 50 ปี ภายใต้การบริหารองค์กร โดยอดีตนายกสมาคม 16 ท่าน ได้ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท อย่างดียิ่ง ทำให้องค์กรเติบโตอย่างเข้มแข็ง และในค่ำคืนนี้ สธวท.เชียงใหม่ ได้นำบทสรุปของกิจกรรมทั้งพันธกิจหลักและภาระกิจที่ได้ดำเนินภายใต้โครงการต่างๆมาแสดงให้ทุกท่านได้ประจักษ์
ด้วยดิฉันคือผู้ที่ได้รับรางวัล 1 ใน 9 บุคคลต้นแบบ จึงขอดำเนินการโครงการส่งเสริมผ้าไทย ตามพระราชดำริในเขตภาคเหนือเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง จึงเป็นที่มาของงานสืบปณิธาน สานสายใย ผ้าทอชาติพันธุ์ 50 ปี สธวท.-เชียงใหม่
ดร.พิศมัย ตรีวิชา ประธานดำเนินงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เนื่องในปีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา กล่าวว่า งานสืบปณิธานสานสายใย ผ้าทอชาติพันธุ์ เนื่องในวาระครบ 50 ปี สธวท.-เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานและส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์จากชุมชนพร้อมทั้งต่อยอดด้านงานผ้าทอชนเผ่าให้มีหลากหลายประเภทสู่การรู้จักที่แพร่หลายมากขึ้น สร้างความภาคภูมิใจเมื่อสวมใส่ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและใช้ในเทศกาลงานต่างๆ
การจัดงานในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การเสวนาล้อมวงเล่าเรื่อง” สืบปณิธาน สายสายใย ผ้าทอชาติพันธุ์” ส่วนที่2 นิทรรศการ เรื่องผ้าชนเผ่าดั้งเดิมที่เก่าเก็บมาเป็นเวลาช้านาน ส่วนที่ 3 การนำเสนอชุดผ้าทอชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ จำนวน 10 ชนเผ่าและชุดชนเผ่าประยุกต์โดยนางแบบกิตติมศักดิ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย
นภาพร/เชียงใหม่