23/11/2024

“รมว.วราวุธ” ชี้ ภาคผลิตและบริการ คือหัวใจสำคัญของการปรับพฤติกรรมคนไทยไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งเป้าหมาย Net Zero GHG

“รมว.วราวุธ” ชี้ ภาคผลิตและบริการ คือหัวใจสำคัญของการปรับพฤติกรรมคนไทยไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งเป้าหมาย Net Zero GHG


วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2565) เวลา 13.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางของนานาชาติและประเทศไทยในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับภูมิภาค Asia Pacific Roundtable on Sustainable Consumption and Production (APRSCP) ครั้งที่ 16 จัดโดย สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย)

โดยมี มร.สันเจย์ กุมาร์ ประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการการจัดงานและประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) กล่าวต้อนรับ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กว่า 300 คน เข้าร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพื่อส่งเสริม และแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ณ โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส กรุงเทพฯ และผ่านระบบ Video conference


นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้แนวคิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หรือ Sustainable consumption and production ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero GHG ภายในปี ค.ศ. 2065 เพราะหากภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต หรือภาคธุรกิจ มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการผลิตสินค้าและการบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและกรอบความคิดของคนในสังคมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกได้ แต่ถ้าหากยังมีแนวคิดการผลิตและการบริการแบบเดิมก็จะเริ่มเผชิญกับกำแพงภาษีทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้น ดังนั้น การผลิตและการบริการนับจากนี้ไป จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รูปแบบการบริโภคของคนในสังคมก็จำเป็นต้องเปลี่ยน ต้องมีทัศนคติใหม่ เพื่อนำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อช่วยให้สังคมเกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้น


โดยในปาฐกถาพิเศษ รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแปลงการประกาศเจตนารมณ์ และคำมั่นสัญญาของผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและเร่งด่วน ด้วยวิถีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยหัวใจหลักของการดำเนินการอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายที่นำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดของเสียเท่าที่จำเป็น และมีการนำของเสียหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ หรือนำกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตต่อเนื่องกันไป และที่สำคัญก็คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนโดยทั่วไปให้มีการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยได้มีการจัดทำ Roadmap การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2561 – 2580 การจัดทำฉลากสิ่งแวดล้อม การจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 การกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งได้มีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ผ่านกระบวนการกักเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้ที่ปลูก เป็นต้น ท้ายที่สุดแล้ว รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงพลังของความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการปกป้องโลกใบนี้ให้รอดพ้นจากมหันตภัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเชื่อว่า “ด้วยพลังของพวกเราทุกคน เราทำได้”

ข่าวที่น่าติดตาม