รมว.สุชาติ มอบ ผู้ช่วยฯ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แรงงานไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคอนโดมิเนียม”
รมว.สุชาติ มอบ ผู้ช่วยฯ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แรงงานไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคอนโดมิเนียม”
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แรงงานไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคอนโดมิเนียม” ในพิธีเปิดงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2023” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ให้มีการขยายตัวเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ
นายสุรชัย กล่าวว่า งานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2023” เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลุ่มคอนโดมิเนียมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก ที่จะได้รับทราบถึงสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ แนวโน้มการตลาดในอนาคต ซึ่งวันนี้ทุกท่านจะได้รับความรู้และ แนวทางการปรับแผนกลยุทธ์ของธุรกิจท่านให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด -19 กระทรวงแรงงานได้มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกอบการ ในหลาย ๆ เรื่อง ดังนี้ ปี 2564 เปิดจุดตรวจโควิดแบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกจ้างเพื่อให้ภาคเอกชนยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป มีผลตรวจโควิด 409,972 คน แรงงานไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงขอรับการสนับสนุนวัคซีนให้แก่ผู้ใช้แรงงานกว่า 11 ล้านคน และได้ฉีดวัคซีนให้แรงงานแล้ว 3,962,206 โดส โรงงานปิดตัวลงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงงาน กระทรวงแรงงานจัดโครงการแฟคทอรี่ แซนบ๊อก บนฐานแนวคิดเศรษฐศาสตร์ควบคู่สาธารณสุข มุ่งเป้าภาคการผลิตส่งออกสำคัญ ได้แก่
ยานยนต์ อาหาร ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ใน 12 จังหวัด 730 โรงงาน มีแรงงานเข้าร่วม 407,770 คน ตรวจ RT- PCR พบผู้ติดเชื้อ 11,298 คน โดยทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการรักษา และได้ฉีดวัคซีนให้ทุกคน ผลสัมฤทธิ์จากโครงการทำให้โรงงานไม่มีการปิดตัวลง ภาคการผลิตส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี การให้ความช่วยเหลือ SMEs เพื่อรักษาการจ้างงานให้ยังคงอยู่ โดยรัฐบาลอุดหนุนจำนวน 235,933 แห่ง ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ของนายจ้าง 66,201 แห่ง ลูกจ้างได้รับการจ้างงาน มากกว่า 3.2 ล้านคน รวมเงินอุดหนุน มากกว่า 27 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตน ลดเงินสมทบมาตรา 33 มาตรา 39 และ 40 เป็นเงิน 146,448 ล้านบาท เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เป็นเงิน 73,899.09 ล้านบาท กรณีสุดวิสัย 2.58 ล้านราย เป็นเงิน 19,930.93 ล้านบาท เยียวยาแคมป์คนงาน 81,136 ราย เป็นเงิน 412.65 ล้านบาท
กรณีเลิกจ้าง ลาออก สิ้นสุดสัญญา 2.55 ล้านราย เป็นเงิน 53,555.51 ล้านบาท เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1.37 ล้านราย และมาตรา 40 จำนวน 7.21 ล้านราย เป็นเงิน 71,214.63 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อราย จำนวน 147,720 ราย เป็นเงิน 738.60 ล้านบาท ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม.รวม 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 2,414,933 ราย ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคสูงขึ้นให้พี่น้องแรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังมีแผนการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะ Up Skill และ Re Skill สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง ตลอดจนสาขาการสร้างร้านค้าออนไลน์ การขายสินค้าออนไลน์ อันจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ สามารถส่งลูกจ้างเข้ามาฝึกอบรมหรือพัฒนาทักษะต่างๆ อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังสามารถสรรหาลูกจ้างที่มีทักษะฝีมือในสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง สาขาอาชีพการค้าการขายออนไลน์ที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับใบรับรองจากกระทรวงแรงงานเข้ามาร่วมงานกับองค์กรธุรกิจของท่านได้อีกด้วยv