ชุมพร – ประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการจุดตัดทาง แยกเข้า อ.สวี สัมมนา ครั้งที่ 2
ชุมพร – ประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการจุดตัดทาง แยกเข้า อ.สวี สัมมนา ครั้งที่ 2
วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00-12.30 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสวี จังหวัดชุมพร นางสาวนนท์ลภัส ชูสอน ปลัดอำเภอสวี มาเป็นประธาน การประชุมการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 กับทางหลวงหมายเลข 4003 (แยกเข้า อ.สวี) ร่วมกัน ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและประชาชนเข้าร่วมประชุมจำนวน 150 คน
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=SgCMmSSsSd0[/embedyt]
นายจารุพัฒน์ ศรีสอาด วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า กระผมในนามกรมทางหลวง ใคร่ขอขอบพระคุณท่านปลัดอำเภอสวีเป็นอย่างสูง ที่ท่านได้กรุณาให้เกียรติเป็นประธาน “การประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 กับทางหลวงหมายเลข 4003 (แยกเข้า อ.สวี)” พร้อมทั้ง ขอขอบพระคุณผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ที่กรุณาสละเวลาอันมีค่ามาร่วมการประชุมในวันนี้
สืบเนื่องจากทางหลวงหมายเลข 41 เป็นทางหลวงสายหลักที่ใช้สำหรับการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังภาคใต้ โดยการเดินทางนั้นต้องผ่านแยกอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ปัจจุบันเกิดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมเส้นทางในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำท่วมผิวทาง ทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ นอกจากนี้สำหรับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 กับทางหลวงหมายเลข 4003 หรือ แยกเข้า อ.สวีปัจจุบันเป็นจุดตัดที่ควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจรแบบกระพริบ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลให้การเดินทางล่าช้าเกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน
กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงทางแยกเข้า อ.สวี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการเดินทาง การขนส่ง และอุบัติเหตุดังกล่าว เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางสู่ภาคใต้
การประชุมครั้งนี้ เป็นการสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ โดยโครงการได้นำรูปแบบทางเลือกการพัฒนาของโครงการ เสนอต่อผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่โดยดำเนินการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และกลุ่มบริษัทได้คัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมโดยพิจารณาปัจจัยทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยทำการคัดเลือกรูปแบบใน 2 ช่วง สรุปผลการศึกษารูปแบบโครงการได้ดังนี้ ช่วงที่ 1 การออกแบบปรังปรุงแนวเส้นทางโครงการ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ผลการคัดเลือกสรุปได้ว่ารูปแบบที่ 1 ก่อสร้างโดยยกระดับคันทางและสะพานมีความเหมาะสมที่สุด และ ช่วงที่ 2 การออกแบบจุดตัดทางแยกเข้า อ.สวี เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ผลการคัดเลือกสรุปได้ว่า รูปแบบที่ 2 ทางลอด มีความเหมาะสมที่สุด เพื่อให้การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมเส้นทางหลักที่เกี่ยวข้องมีความสมบูรณ์ การประชุมในวันนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่โครงการ ได้รับทราบผลสรุปการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมและข้อมูลผลศึกษาด้านต่างๆ ของโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ จากกลุ่มเป้าหมาย และนำความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ได้ไปใช้ในการพิจารณาประกอบในการศึกษาของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
นางสาวนนท์ลภัส ชูสอน เปิดเผยว่า ในนามตัวแทนของส่วนราชการ และผู้แทนประชาชนในอำเภอสวี และจังหวัดชุมพรและจังหวัดอื่นๆ ในเขตแนวทางหลวงหมายเลข 41 ขอกล่าวต้อนรับ ท่านผู้แทนจากกรมทางหลวงและคณะผู้ศึกษาโครงการ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาเป็นประธาน ในการประชุมในวันนี้
สำหรับทางหลวงหมายเลข 41นับว่าเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ที่เชื่อมต่อระหว่างภาคใต้ของประเทศ ปริมาณรถที่ใช้เส้นทางยังมีจำนวนมากและการจราจรก็ยังติดขัดอยู่ และยังเป็นเส้นทางที่รถบรรทุกใช้สัญจรเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้กับพื้นที่อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก และจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2564 ที่ผ่านมา ทางหลวงหมายเลข 41 ถูกน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรได้ ประชาชนได้รับความเดือนร้อนในการเดินทางเป็นอย่างมาก รวมทั้งทางแยกเข้า อ.สวี เกิดปัญหาอุบัติเหตุอันนำความสูญเสียต่อชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการศึกษาของโครงการในอนาคต
ดิฉันขอขอบคุณกรมทางหลวง ที่ได้ริเริ่มให้มีศึกษาโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 กับทางหลวงหมายเลข 4003 (แยกเข้า อ.สวี)และเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อผลสรุปการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมและข้อมูลผลศึกษาด้านต่างๆ ของโครงการและให้ข้อเสนอแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงผลการศึกษา
ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในวันนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะใช้โอกาสนี้ ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการที่ชัดเจน และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบการมีส่วนร่วม และเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้การดำเนินการศึกษาของโครงการ บรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป
ธนากร โกศลเมธีรายงาน 0818923514