กาฬสินธุ์ – ร่วมอนุรักษ์สืบสานสามอาชีพงานฝีมือหัตถศิลป์ไทยที่ทรงคุณค่า
สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีสัมมนาประชาคม ค้นหางานหัตถศิลป์ที่กำลังจะสูญหายของจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมร่วมอนุรักษ์สืบสานอาชีพช่างทำโปงลาง ช่างจักสานมาลัยไม้ไผ่ และช่างทำธุง 3 งานฝีมือหัตถศิลป์ไทยที่ทรงคุณค่า
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ห้องประชุมลีลาวดี ชั้น 2 มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดเวทีสัมมนาประชาคม เพื่อค้นหางานหัตถศิลป์ที่กำลังจะสูญหายของ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย ดร.สุชานาถ สิงหาปัด อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ดร.พรสวรรค์ พรดอนก่อ อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ นางสุภาพร เกียรติดำเนินงาม เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ตัวแทนจากสำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ กลุ่มอาชีพ และกลุ่มช่างฝีมือในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วม
สำหรับงานสัมมนาประชาคมดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อค้นหา สืบค้น และสำรวจงานหัตถศิลป์ที่มีคุณค่าและกำลังใกล้จะสูญหายของ จ.กาฬสินธุ์ ตามโครงการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนางานหัตถศิลป์ท้องถิ่นด้วยการนวัตกรรม และการถอดแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อก่อให้เกิดผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมและสร้างพื้นที่เรียนรู้งานหัตถศิลป์สร้างสรรค์ พร้อมนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์งานหัตถศิลป์ เพื่อให้ได้ซึ่งองค์ความรู้ในแต่ละพื้นที่ ชุมชนที่สามารถสืบค้นและศึกษาได้ในอนาคตและเป็นตัวอย่างการวางรากฐานการเรียนรู้สำหรับเยาวชนด้วย
อย่างไรก็ตามคณะทำงานโครงการฯเห็นว่า การจัดสัมมนาประชาคมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานวิจัยแห่งชาติ และคณะในการนำองค์ความรู้มา เพื่อพัฒนาปรับใช้สำหรับงานวิจัยต่อไป และในการประชาคมครั้งนี้ยังได้มีมติข้อตกลงร่วมกันถึงเรื่องอาชีพช่างฝีมือที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบสานไว้ 3 อาชีพในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ คือ อาชีพช่างทำโปงลาง อาชีพช่างจักสานมาลัยไม้ไผ่ และช่างทำธุง ซึ่งคณะทำงานโครงการฯจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์งานฝีมือหัตถศิลป์ทั้ง 3 อาชีพนี้ให้คงอยู่ต่อไป