กาฬสินธุ์_ภาครัฐเอกชนร่วมแชร์วิชั่นเดินหน้าพัฒนาสหัสขันธ์
ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมแชร์วิชั่น วิเคราะห์ของดีสหัสขันธ์ ก่อนกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาอำเภอสหัสขันธ์สู่ต้นแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้การบูรณาการร่วมกับเครือข่าย สสส. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งเป้าสร้างชุมชนเข้มแข็ง ดึงเสน่ห์ไกด์เด็ก โชว์ของดีชุมชนเพื่อก้าวสู่เมืองท่องเที่ยว
ที่บริษัท สหัสขันธ์ จูราสสิก แอนด์ ทราเวล จำกัด จุดดำเนินเนินโครงการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมต้นแบบอำเภอสหัสขันธ์ ดร.อุทิศ อติมานะ ที่ปรึกษา สสส. ร่วมแชร์วิชั่นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายการท่องเที่ยวสหัสขันธ์ ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกิจกรรม โดยมี พระมหาสมหมาย ชินทตฺโต เจ้าคณะตำบลภูสิงห์ และคณะสงฆ์ ดร.สมจิตร กันธาพรม เจ้าของคุ้มควายกาฬสินธุ์ ดร.โกศล เรืองแสน จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
พร้อมเครือข่าย ตัวแทนภาคเกษตรกรปศุสัตว์ ประมง ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งนางสาวชมพิศ ปิ่นเมือง ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ในนามประธานบริษัท สหัสขันธ์จูราสสิก แอนด์ ทราเวล จำกัด และคณะกรรมการเป็นผู้ประสานงานและดำเนินงานโครงการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม Social Enterprise ซึ่งได้รับงบประมาณ การสนับสนุนจาก แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)
อาจารย์อุทิศ อติมานะ ที่ปรึกษา สสส. กล่าวว่า อำเภอสหัสขันธ์ มีต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมสูง และยังมีพันธมิตรเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมร่วมบูรณาการความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง สำหรับในการลงพบปะกลุ่มเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ เพื่อให้เห็นภาพของการทำงานในรูปแบบ วิสาหกิจเพื่อสังคม มีรากฐานที่มั่นคงด้วยการจัดการระบบการเงิน การบัญชี การวางแผนการตลาด รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์มีเรื่องราวและรูปลักษณ์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ที่จะเพิ่มรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
“จากการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วมีงานประจำปี ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ มีจิตอาสาเยาวชนจากโรงเรียนไกรฤกษ์ราษฎร์อำนวย มีกลุ่มผู้สูงวัยร่วมทำงานกับกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป้าหมายครั้งนี้ มีทั้ง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โรงเรียน พิพิธภัณฑ์สิรินธร วัด กลุ่มประมงเขื่อนลำปาว กลุ่มทอผ้า และกลุ่มเกษตรผสมผสาน เชื่อมโยงกับการสืบสาน ต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน ที่จะต้องสร้างเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับการทำการตลาดเพื่อทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ขณะที่การต่อยอดทุนทางปัญญาชุมชนที่จะต้องเสริมแกร่งของศูนย์เรียนรู้ชุมชน พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ทุนสิ่งแวดล้อมชุมชน ในการเฝ้าระวังเขื่อนลำปาว และเฝ้าระวังการลงทุนใหม่” อาจารย์อุทิศ กล่าว
ดร.โกศล เรือนแสน อาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในหลักสูตรที่จะเสริมเข้าสู่กระบวนการได้อย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นในส่วนของภาคการเกษตร ที่มีหลากหลายและทางมหาวิทยาลัยสามารถออกใบรับรองให้ได้ด้วยตามระยะเวลาการอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเชื่อมโยงกับหลักสูตรท้องถิ่น ในการส่งเสริมกิกรรมท่องเที่ยวของอำเภอสหัสขันธ์ ทาง ม.กาฬสินธุ์ ยังมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมต้นแบบอำเภอสหัสขันธ์ เล็งเห็นว่าพื้นที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร ทีมงาน และภาครัฐที่ส่งเสริมอย่างเต็มที่
ดร.สมจิตร กันธาพรม เจ้าของคุ้มควายกาฬสินธุ์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ต้นทุนที่สูงแต่ยังขาดการบริหารจัดการ การที่ทาง สสส.เข้ามาเติมเต็มทั้งความรู้ และการวางระบบ การตลาด การเงิน การบัญชี จะทำให้ วิสาหกิจเพื่อสังคมสหัสขันธ์ มีฐานที่มั่นคงและเติบโตได้ อีสานมีทุนของภูมิปัญญาที่หลากหลายแต่ยังขาดความเชี่ยวชาญ ซึ่งการส่งเสริมจำเป็นต้องเอาเฉพาะทางให้โดดเด่นก่อนจะแตกยอดออกไป ในส่วนของกลุ่มคนเลี้ยงควาย เป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนงานพัฒนาวิสาหกิจต้นแบบสหัสขันธ์ให้เป็นรูปร่างที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการสร้างแหล่งเรียนรู้วิถีควายกับคนให้เข้ากับบริบทของการเรียนรู้ควบคู่กับการท่องเที่ยว
จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่ตามเส้นทางท่องเที่ยวหลักของอำเภอสหัสขันธ์ ที่ประกอบด้วยวัดพุทธาวาสภูสิงห์ – เขาภูสิงห์ วัดพุทธนิมิต – ภูค่าว คุ้มควายกาฬสินธุ์ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองขิตไดโนเสาร์ และสะพานเทพสุดา ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนของอำเภอสหัสขันธ์ ที่เพียบพร้อมมาก ทั้งนี้ทางคณะทำงานได้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปผลปละดำเนินงานตามเป้าหมายของโครงการต่อไป